หัวหน้าองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้เรียกร้องให้นานาประเทศหันมาดูแล และบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก
นายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่ FAO, นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO และนายโรแบร์โต อาเซเบโด ผู้อำนวยการ WTO ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า “ขณะที่ออกมาตรการเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายๆ ประเทศต้องดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร หรือผลกระทบที่ไม่คาดคิดต่อการค้าโลก และความมั่นคงด้านอาหาร”
แถลงการณ์ระบุว่า “นอกเหนือจากทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองแล้ว ประเทศต่างๆ ควรสร้างความมั่นใจว่า มาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร”
นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า “ความไม่แน่นอนด้านอาหารอาจก่อให้เกิดการจำกัดด้านการส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนในตลาดโลก” พร้อมเสริมว่า “ผลกระทบดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของอาหาร จนส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้น และผันผวน”
“ท่ามกลางมาตรการปิดประเทศ ทุกประเทศจำเป็นต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อสร้างความมั่นใจว่า การค้าขายจะดำเนินไปอย่างอิสระที่สุด โดยเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนอาหาร” พวกเขาระบุในแถลงการณ์
ทั้งนี้ พวกเขายังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ไม่ให้ระงับการเคลื่อนไหวของแรงงานด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งปกป้องสุขภาพของคนงานเหล่านี้เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, FAO, WHO, WTO, ฉู ตงหยู, ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส, องค์การการค้าโลก, องค์การอนามัยโลก, องค์การอาหารและเกษตร, อาหาร, โควิด-19, โรแบร์โต อาเซเบโด