เคพีเอ็มจีแนะ CFO บริหารเงินสดเน้นสภาพคล่อง ทางรอดฝ่าวิกฤตโควิด-19

นายทรงพล เกียรติเลิศพงศา ผู้อำนวยการ ที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างความท้าทายอย่างมากให้กับทุกธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายในการจัดการและบริหารด้านฐานะทางการเงินของบริษัทให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินไปต่อในอนาคตข้างหน้าได้

โดยการบริการจัดการด้านการเงินของธุรกิจเป็นหน้าที่หลักของประธานเจ้าหน้าที่บริการการเงิน (CFO) ที่จะต้องเข้ามาประเมินสถานการณ์ในส่วนของงบแสดงฐานะทางการเงิน และงบการเงินของบริษัทจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างไร ซึ่งต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตอันใกล้ว่าจะเป็นอย่างไร และปรับแผนรับมือให้สอดคล้อง เพื่อรักษาให้บริษัทยังมีความแข็งแกร่งอยู่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพคล่องที่เป็นเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจควรให้ความสำคัญอย่างมาก ในภาวะที่ธุรกิจเผชิญกับปัจจัยกดดัน เพราะเงินสดเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความยากลำบากไปได้

คำแนะนำของเคพีเอ็มจีในการบริหารจัดการเงินสดและสภาพคล่องของธุรกิจมองว่าในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น CFO จะต้องเป็นแกนกลางในการสร้างความร่วมมือกันกับทุกคนในธุรกิจ ในการช่วยวางแผนในการบริหารจัดการเงินสดที่บริษัทมีอยู่ โดยตั้งทีมที่ดูแลเกี่ยวกับเฉพาะเงินสด (Cash Steering Committee) ขึ้นมา โดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ CEO CFO และ COO และแผนกที่เกี่ยวข้องกับเงินสด ได้แก่ ฝ่ายบุคคล ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขายและการตลาด เป็นต้น

โดยมีการพูดคุยและวางแผนสถานการณ์ของเงินสดล่วงหน้า ทั้งรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี และรายปี พร้อมกับมีการพูดคุยหารือกันทุกวันในทีม เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันควรประเมินเป็นรายวัน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเงินสดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอด

ขณะที่งานในการบริหารจัดการเงินสดต้องมีกระบวนการวางแผนแบบย้อนกลับ โดยปรับมาเริ่มดูจาก Output หรือสินค้าและบริการที่ขายให้กับลูกค้า ซึ่งจะต้องดูสถานการณ์ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของลูกค้าว่าเป็นอย่างไร พร้อมกับดูสินค้าและบริการเป็นรายตัวว่ามีสินค้าใดที่ยังขายได้และยังสร้างกำไรให้กับบริษัทได้ พร้อมกับการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้บริษัทสามารถวางแผนกลับไปที่กระบวนการในการผลิตต่อไปได้

ในส่วนของกระบวนการผลิตหลังจากที่ประเมินผลจาก Output ได้ข้อมูลมาแล้ว จะต้องมาวางแผนเกี่ยวกับกำลังการผลิต ว่าจะต้องลดกำลังการผลิตสินค้าประเภทใดลงเท่าไหร่ จะต้องวางแผนการสั่งวัตถุดิบซัพพลายเออร์เป็นอย่างไร และปรับลดค่าใช้จ่ายที่อาจจะชะลอหรือเลื่อนออกไปได้ในช่วงนี้ เช่น การเลื่อนการสั่งเครื่องจักรหรือของบางอย่างที่ใช้ในการผลิตที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน การชะลอหรือยกเลิกการซื้อรถกับลีสซิ่ง ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

หลังจากที่สามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้แล้ว จะส่งผลมาถึง Input ในการบริหารจัดการคำสั่งซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ จะต้องมีการสั่งซื้อที่สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตในช่วงนั้น ลดการสั่งซื้อวัตถุดิบที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน และหากสามารถเจรจากับซัพพลายเออร์ในการขอยืดระยะเวลาการชำระเงินได้ ในกรณีที่ซัพพลายเออร์เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญกว่าธุรกิจของตัวเอง หรือซัพพลายเอร์มีความแข็งแกร่งมากกว่า หรืออีกกรณีเป็นการจ่ายเงินเร็วขึ้น แต่ได้รับส่วนลดจากซัพพลาเออร์ เพื่อรักษาเงินสดของธุรกิจ หรือเสียเงินสดของธุรกิจออกไปน้อยลง ทำให้บริษัทยังมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

“ในภาวะสถานการณ์แบบนี้ และไม่รู้ว่าโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ การบริหารเงินสดทุกบาททุกสตางค์เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเงินสดจะช่วยให้ธุรกิจก้าวผ่านความยากลำบากไปได้ ทำให้ CFO จะต้องเป็นแกนกลางของธุรกิจในการบริหารจัดการเรื่องนี้ กลับมาดูค่าใช้จ่ายทุกอย่างทุกบรรทัด พยายามลดต้นทุน Variable cost ให้ได้มากที่สุด ส่วนต้นทุนที่เป็น Fixed cost อันไหนที่สามารถตัดไปได้ก็ตัดไปก่อน เพื่อรักษาเงินสดของธุรกิจให้อยู่นานมากที่สุด โดยประเมินเป็นสถานการณ์จากแย่ที่สุดไปดีที่สุด ว่าแต่ละสถานการณ์เงินสดของธุรกิจจะหมดไปตอนไหน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับผู้ตวจสอบบัญชีในการช่วยวางแผน” นายทรงพล กล่าว

นายทรงพล กล่าว

ขณะเดียวกันยังต้องรีบปรึกษากับทางธนาคารในการรองรับเรื่องของเงินกู้มาเสริมสภาพคล่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจควรเริ่มทำทันที เพราะธนาคารจะเป็นผู้ที่สามารถเข้ามาช่วยพยุงธุรกิจได้ในภาวะที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจนเงินสดใกล้หมดแล้ว โดยจะต้องมีการนำแผนงานที่บริษัทประเมินเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเงินสดของธุรกิจ ซึ่งมีการแบ่งเป็นแต่ละกรณีไปนำเสนอพูดคุยกับทางธนาคารให้ธนาคารเห็นภาพที่ชัดเจนว่าธุรกิจยังสามารถไปต่อได้หากผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพราะหากไม่ทำตั้งแต่แรกๆ เมื่อธุรกิจเงินสดใกล้หมดและไปขอกู้ วงเงินที่ธนาคารจะให้กู้อาจจะได้ไม่ถึงความสามารถของธุรกิจที่มีในอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารจะมองข้ามในช่วงนั้น

นอกจากนี้ ทางสภาวิชาชีพบัญชียังมีมาตรการออกมาช่วยเหลือธุรกิจในเรื่องของการผ่อนปรนวิธีการคิดการตั้งสำรองล่วงหน้า และการตั้งด้อยค่าเสื่อมของสินทรัพย์ หากธุรกิจยังสามาถดำเนินการต่อไปได้ในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยสภาวิชาชีพบัญชีจะผ่อนปรนให้สถานการณ์โควิด-19 จะไม่ถูกนับเข้ามาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่องบการเงินของธุรกิจ

แต่จะต้องให้ผู้ตรวจสอบบัญชีลงหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อให้ผู้บริหารอธิบายแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตที่อาจจะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ อีกทั้งทางภาครัฐก็ยังมีมาตรการต่างๆทยอยออกมาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจให้ก้าวผ่านไปได้ โดยเฉพาะมาตรการทางด้านการลดหย่อนภาษี ที่จะช่วยให้ธุรกิจมีเงินสดและสภาพคล่องรองรับการดำเนินธุรกิจในภาวะที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top