ครม.เคาะมาตรการเยียวยาโควิดระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านลบ.-ต่อเวลา ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เป็น 6 เดือน

  • ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะ 3 รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
  • เตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านลบ.แก้ปัญหา-ลดผลกระทบโควิด คาดเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้น พ.ค.นี้
  • ไฟเขียว ธปท. ออก พ.ร.ก.ทำซอฟท์โลนช่วย SME จำนวน 5 แสนลบ. และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 4 แสน ลบ.
  • ครม.เห็นชอบสำนักงบฯ จัดทำร่าง กม.โอนงบปี 63 เพื่อรวมไว้ที่งบกลางใช้แก้ปัญหาโควิด-19
  • รมว.คลัง เผยอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปี 64 ยังอยู่ที่ 57% ยังไม่เกินเพดาน

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

1.ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย.63 และเริ่มกู้เงินได้วนเดือน พ.ค.63 แบ่งเป็น

  • จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ได้แก่ เยียวยาประชาชน 6 เดือน, เยียวยาเกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข
  • แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่

2.ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกซอฟท์โลนเพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ คือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท

  • เป็นสินเชื่อใหม่ 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท
  • ธนาคารพาณิชย์ และ SFls พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

3.ออก พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF และให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

นายอุตตม ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงินว่า กระทรวงการคลังนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 57% ของจีดีพี ซึ่งไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% แต่หากในอนาคตจำเป็นต้องขยายกรอบก็จะนำเสนอคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของการออก พ.ร.ก.กู้เงิน คือ ประการแรก คือ ให้อำนาจกระทรวงการคล้งกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แหล่งที่มาจะเป็นเงินสกุลบาทเป็นหลัก กำหนดเวลากู้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย.64 โดยจะเป็นลักษณะการทยอยกู้ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งบประมาณตามที่กำหนดไว้

ขยายเวลาให้เงิน 5 พันบาท ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เป็น 6 เดือน

วัตถุประสงค์ สำหรับวงเงิน 6 แสนล้านบาท จะใช้ด้านการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง มาตรการเยียวยาประชาชนในกลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ 9 ล้านคน ที่เดิมกำหนดไว้จ่ายเงินช่วยเหลือ 5 พันบาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็จะมีการต่ออายุเป็น 6 เดือน ถึงเดือน ก.ย.63 จากวงเงินรวมรายละ 1.5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 3 หมื่นบาท รวมถึงจะใช้สำหรับมาตรการดูแลเกษตรกรที่จะประกาศในรายละเอียดถึงเกณฑ์และวิธีการตอ่ไป และด้านสาธารณสุขจะมีการกำหนดหรือจัดงบประมาณไว้เพิ่มเติมหากมีความจำเป็นต้องใช้

ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท จะใช้ตามแผนงานดูแลเศรษฐกิจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น การดูแลสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทุกกลุ่มของประชาชนในประเทศ หลังจากดูแลผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง และเกษตรกรไปแล้ว ก็จะมาดูแลในมิติของพื้นที่เพื่อสร้างงานสมร้างอาชีพ โดยเฉพาะประชาชนที่กลับไปยังท้องถิ่น

นายอุตตม กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องยกร่าง พ.ร.ก.และทูลเกล้าฯ คาดว่า พ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย. จากนั้นกระทรวงการคลังจะเริ่มจัดหาแหล่งเงินกู้ตามวงเงินที่เหมาะสมเบื้องต้นภายในต้นเดือน พ.ค.63 การกู้เงินจะเริ่มขึ้นได้และเงินจะเริ่มเข้ามา

อีกด้านหนึ่งเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมกันคือมีคณะกลั่นกรองโครงการ ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ขออนุมัติใช้วงเงิน จากนั้นจะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนที่โครงการนั้นจะได้รับการอนุมัติ พร้อมกันนั้นจะมีระบบการกำกับติดตามรายงานผลการใช้จ่ายเงินเป็นระยะถึงความคืบหน้า

พร้อมกันนั้น วันนี้ ครม.ยังอนุมัติให้สำนักงงบประมาณ จัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณประจำปี 63 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อใช้งบกลางของปี 63 ต่อสู้กับโควิดไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท และยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เงินงบประมาณในการดูแลกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

จึงขอจัดทำเป็น พ.ร.บ.โอนงบจากกระทรวงเข้ามารวมกันไว้ที่งบกลางเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโควิด ซึ่งจะมีหลักการปฏิบัติ ที่สำนักงบประมาณกำหนดขึ้นและขอความร่วมมือจากทุกกระทรวงกันงบที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายในเวลานี้เพื่อนำมาต่อสู้กับปัญหาโควิด รวมทั้งให้จัดทำงบรายจ่ายของปี 64 ให้สอดคล้องกับการรับมือสถานการณ์โควิดด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม. ยังเห็นชอบการตราร่างพ.ร.ก. 2 ฉบับ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs พร้อมกับการเสริมสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ได้แก่

ร่างพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท) สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท กำหนดให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มียอดสินเชื่อคงค้างเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562

โดยผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อเดิม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ได้เพิ่มเติมในระยะ 6 เดือนแรก

นอกจากนี้ ยังมีโครงการให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

ร่างพ.ร.ก.สนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. BSF) สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ ภาคเอกชนและระบบการเงิน โดย ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF)และให้ ธปท. สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ (Market functioning)

โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้บริษัทสามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้ ทั้งนี้ ธปท. สามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้อำนาจ ธปท. ในการซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน

อีกทั้ง ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. …. เพื่อให้ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาทไปถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในภาพรวม

มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ Non-Banks เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัทโดยการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลิสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถให้แก่ประชาชน

การปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว ทราบการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินจากอัตรา 0.46% ต่อปี เหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินมีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top