‘บัณฑูร’ เปิดใจวางมือจากนายแบงก์หลังใช้เวลา 40 ปี

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การลาออกจากการเป็นประธานกรรมการของธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ หลังจากทำงานในแวดวงการธนาคารพาณิชย์มาอย่างยาวนาน 40 ปี เพราะมองว่าถึงเวลาที่ธนาคารจะต้องมีคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารคลื่นลูกใหม่ที่ตนเชื่อมั่นในการที่จะนำพาและต่อยอดธนาคารกสิกรไทยให้เติบโตขึ้น

แม้ว่าในปัจจุบันธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะเผชิญกับปัจจัยที่เข้ามากดดัน และสร้างความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน นโยบายในการกำกับดูแลธนาคารที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภัยธรรมชาติ และปัจจัยอื่นๆที่ไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายให้กับคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทย ในการพิสูจน์ฝีมือในการทำงาน ทำให้ธนาคารกสิกรไทยก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ และอยู่เคียงข้างคู่กับคนไทย เป็นหนึ่งในเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้ผมก็จบฉากเดิมที่ธนาคารกสิกรไทยแล้ว การลงจากตำแหน่งในช่วงวิกฤติถือว่าผมต้องเชื่อมั่นศักยภาพของธนาคารกสิกรไทยมากถึงได้ลงมา แล้วให้ทีมผู้บริหารคลื่นลูกใหม่ทำงานบริหารธนาคารกันอย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นโอกาสในการพิสูจน์ฝีมือของทีมบริหารคลื่นลูกใหม่ ซึ่งผมไว้วางใจ จากความสามารถและประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งที่เห็นมาฝีมือแต่ละคนก็เก่ง และทำงานเข้ากันได้ดีไม่มีปัญหาอะไรในการทำงาน ก็ไม่กังวลอะไรในส่วนการทำงานของธนาคารกสิกรไทย”

นายบัณฑูร กล่าว

ส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้เปรียบเสมือนกับการโดนพายุลูกใหม่เข้ามา แต่เป็นพายุที่ต่างไปจากเดิมที่ไม่ได้เป็นพายุที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้โครงสร้างต่างๆของประเทศต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่เป็นโรคระบาดหรือไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทย รวมถึงเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะลอตัวขึ้น แต่โครงสร้างต่างๆของประเทศยังเป็นอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงก็แค่ในตอนนี้คนไม่สามารถออกมาทำงานได้ พ่อค้าและแม่ค้าไม่สามารถที่จะค้าขายเหมือนแบบปกติได้

ส่งผลทำให้รายได้ประชาชนลดลง แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไม่เปลี่ยน อย่างเช่นวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ซึ่งเกิดจากความโลภของคน การทำอะไรเกินตัว ต้องการกำไรที่มาก เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นก็ล้มกันไป ซึ่งก็เป็นบทเรียนให้กับเราทุกคน และปรับตัว ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงสร้างของสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และประชาชนออกมา เพื่อช่วยประคับประคองให้ทุกคนสามารถอยู่รอด และก้าวข้ามผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งยังคงยึดมั่นในการเป็นที่พึ่งพิงให้กับผู้ประกอบการและประชาชนทุกคน คอยดูแลช่วยเหลือทุกคนให้รอดพ้นภาวะวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

ซึ่งปัจจุบันมั่นใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยธนาคารพาณิชย์ยังสามารถรับมือได้ แม้ว่าจะต้องสูญเสียกำไรไปบ้าง แต่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะมาหาผลประโยชน์กันในตอนนี้ ธนาคารพาณิชย์ต้องช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูประเทศ ควบคู่ไปกับรัฐบาลที่มีมาตรการออกมาดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งมองว่าทุกอย่างจะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง และกลับมาได้หลังจากผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปแล้ว

สำหรับบทบาทใหม่ของตนหลังจากนี้จะหันเน้นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับประเทศไทย ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างศักยภาพของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนทำอยู่ในโครงการปลูกป่าน่าน เพราะการเกษตรเป็นงานที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ทำให้ต้องมีการช่วยประชาชนในภาคการเกษตรในการให้ความรู้ และเพิ่มความสามารถเพื่อต่อยอดอาชีพของคนในภาคการเกษตร

รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นมิติใหม่ในการทำการเกษตรว่าสามารถทำอาชีพได้อย่างไรที่ยังสามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปได้ ซึ่งองค์ความรู้ในปัจจุบันที่เป็นความรู้เดิมไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้วในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

โดยสิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญมากในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ คือ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างจริงจัง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ที่ควรจะต้องเพิ่มงบสำหรับการทำ R&D มากขึ้น รวมถึงภาคเอกชนด้วย แต่ก็มีภาคเอกชนซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีการให้ความสำคัญกับงาน R&D มาก โดยมีการตั้งศูนย์เพื่อรองรับการทำ R&D ออกมาโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี และตนเองสนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะหากประเทศไทยมีการทำ R&D มากขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพ และสามารถแข่งขัรกับประเทศอื่นๆได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top