KTB หนุนลดใช้เงินสด ให้เติมเงินบัตร MRT ผ่าน Krungthai NEXT, ATM เริ่ม 13 เม.ย.

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในฐานะผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการช่วยให้ประชาชนลดการจับเงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้รับความร่วมมือที่ดีจากธนาคารกรุงไทย (KTB) ในการเพิ่มช่องทางการเติมเงินเข้าบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ทุกประเภท ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และ ATM ของธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.63 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ได้เพิ่มขบวนรถไฟฟ้า MRT ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเย็น เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร โดยสายสีน้ำเงินจะจัดรถไฟฟ้าจำนวน 42 ขบวน วิ่งให้บริการต่อเนื่องในช่วงเวลา 17.30 –21.30 น. ด้วยความถี่ 3.50 นาทีต่อขบวน และสายสีม่วงจะจัดรถไฟฟ้าจำนวน 16 ขบวน วิ่งให้บริการระหว่างเวลา 18.00 –21.30 น. ด้วยความถี่ 4.30 นาทีต่อขบวน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความหนาแน่นของผู้โดยสารให้สามารถเดินทางกลับบ้านได้ก่อนเวลา 22.00 น. ในช่วงเคอร์ฟิว

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้รับความไว้วางใจจาก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในการพัฒนาช่องทางการเติมเงินเข้าบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ทุกประเภท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT และนับเป็นธนาคารแห่งแรกที่สามารถเปิดให้บริการเติมเงินผ่าน Mobile Banking ได้ โดยเติมเงินขั้นต่ำตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปแบบทวีคูณ สูงสุดไม่เกิน 1,500 บาท พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมการเติมเงิน

ทั้งนี้ หลังจากเติมเงินภายใน 7 วัน ผู้โดยสารกรุณานำบัตรโดยสารไปปรับมูลค่าที่เครื่องปรับมูลค่าบัตรโดยสาร (Activate Value Machine : AVM) ในสถานี MRT ภายใน 7 วัน หากไม่ปรับมูลค่ารายการภายในระยะเวลาที่กำหนด ระบบจะคืนเงินเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เร่งพัฒนาช่องทางการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment ด้วยการพัฒนาระบบการชำระเงินในกลุ่ม Mass Transit ที่เป็น 1 ใน 5 Ecosystem เพื่อส่งเสริมลดการใช้เงินสด และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นการป้องกันในการลดการสัมผัสพันธบัตรและเหรียญ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top