สธ.เพิ่มมาตรการเชิงรุกสแกนหาผู้ป่วยโควิด-19 เข้มข้นขึ้น แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง

นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากชุดข้อมูลของจ.ภูเก็ต ที่ใช้มาตรการเชิงรุกในการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดต่ำลง เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจะทำงานเชิงรุกในการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ใน 3 วิธี คือ จากเดิมที่ค้นหาจากผู้สัมผัสกับผู้ป่วย จะมีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน

“ยิ่งตัวเลข (ผู้ติดเชื้อรายใหม่) ลดลง เราต้องเร่งพยายามค้นหาผู้ป่วยมากขึ้น โดยขยายไปในชุมชน การทำงานการ์ดอย่าตก จะหย่อนยานไม่ได้”

นพ.อนุพงค์ กล่าว

สำหรับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แต่ยังไม่ควรชะล่าใจเกินไปแม้สถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม โดยยังจำเป็นต้องปฏิบัติการอย่างเข้มข้นมากขึ้นและต่อเนื่อง

นพ.อนุพงค์ ยังย้ำให้ประชาชนดูแลเรื่องการเว้นระยะห่างในครอบครัวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางออกนอกบ้าน หลังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ติดจากคนในครอบครัวของเดือน เม.ย.มีสัดส่วนอยู่ที่ 23% ขยับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากของเดือน มี.ค.ที่มีเพียง 8% เท่านั้น โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการที่มีความเสี่ยงสูง

สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักในประเทศไทยมีรวมทั้งสิ้น 112 ราย คิดเป็น 3.8% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะปกติที่จะไม่สัดส่วนไม่เกิน 5% ขณะที่มีการจัดเตรียมเครื่องช่วยหายใจไว้ใช้มีจำนวนเพียงพออย่างแน่นอน โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 3,000 เครื่อง และต่างจังหวัดอีก 10,000 เครื่อง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในเรื่องความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย

“การดูแลผู้ป่วยนั้น สธ.ไม่ได้พิจารณาจากผลทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวแต่จะดูอาการของผู้ป่วยด้วย อย่างกรณีของเด็กทารกที่ผลแล็บออกมาเป็นลบถึงสองครั้งแล้วก็ตาม”

นพ.อนุพงค์กล่าว

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการดูแลผู้พิการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวน 2.02 ล้านคนว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ด้านสายตา และด้านการได้ยิน จะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ รวมทั้งมีอุปสรรคในการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ป้องกันโรคยากกว่าคนอื่นๆ ในสังคม จึงได้วางมาตรการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เช่น การให้ความรู้เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ, เพิ่มการคัดกรองความเสี่ยงก่อนรับบริการ, การติดต่อผ่านเครื่องสื่อสาร, การเลื่อนนัดที่ไม่จำเป็น, การให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์, การจัดถุงยังชีพให้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้ติดตามเฝ้าระวังและสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตัว โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ คนพิการสูงอายุ คนพิการสภาพติดเตียง เด็กพิการ และคนพิการที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น ที่อาจมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นหากติดเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม หากคนพิการรายใดต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถแจ้งกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในพื้นที่ได้ เช่น ต้องการรถเข็น หรือโทรสายด่วน 1668 และ 1330 ประชาบดี

นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการให้เงินช่วยเหลือรายละ 1,000 บาท, การพักชำระหนี้กองทุนกู้ยืมเงินคนพิการเป็นเวลา 12 เดือน (เม.ย.63-มี.ค.64) และการให้กู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพไม่เกินรายละ 10,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีผลหลังวันที่ 20 เม.ย.63

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top