Lombard Odier มั่นใจลงทุนตราสารหนี้สร้างผลตอบแทนระยะยาวได้

แนะดูงบดุล-ฐานะการเงินในธุรกิจที่แข็งแกร่ง

นายดีราช บาจาช Head of Asia Credit, Lombard Odier กล่าวว่า Lombard Odier บริหารจัดการกองทุนแบบเชิงรุก มีการวิเคราะห์ประเมินเครดิตของตราสารทุกตัวที่ลงทุนอย่างละเอียด เน้นเชิงมูลค่าโดยให้ความสำคัญต่อปัจจัยพื้นฐาน ประเมินว่าตลาดที่ผันผวนในช่วงก่อนหน้านี้เป็นเพียงปัญหาชั่วคราว เมื่อภาวะตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วคาดว่าราคาของตราสารหนี้จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาที่ระดับเดิมได้ และสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ดีดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ขยายไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ส่งผลให้ภาคธุรกิจมากมายไม่สามารถดำเนินงานได้ และทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยได้ค่อนข้างมาก มีผลต่อความไม่มั่นใจของนักลงทุน ทำให้มีการขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ออกมาเพื่อถือเงินสดมากขึ้น ป้องกันความเสี่ยงหลังสภาพคล่องเริ่มมีแนวโน้มลดลง ก่อนที่ธนาคารกลางในหลายประเทศจะมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินออกมาเข้าระบบ

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ที่มีการขายออกมาเป็นจำนวนมาก จากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความสามารถในการชำระคืนเงินในการไถ่ถอนตราสารหนี้ ซึ่งมีโอกาสที่ภาคธุรกิจที่ออกตราสารหนี้จะผิดนัดชำระหนี้ได้ (Default) ทำให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งมองว่าได้ปรับตัวลดลงไปแตะระดับ Bottom แล้ว

อย่างไรก็ตามการปรับตัวของตลาดตราสารหนี้ในวิกฤติครั้งนี้จะเป็นลักษณะในรูปแบบ V Shape คล้ายกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 51-52 ซึ่งหากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกสามารถคลี่คลายได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ จะทำให้ผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้จะค่อยๆเห็นการฟื้นตัวขึ้น แต่อาจจะไม่รวดเร็วมากนัก เพราะดีมานด์ที่จะเข้ามาซื้อตราสารหนี้ยังไม่กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูระยะหนึ่งก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดวิกฤติ

ขณะเดียวกันสัดส่วนการเกิด Default ของตลาดตราสารหนี้ในวิกฤติครั้งนี้จะน้อยกว่าในช่วงที่วิกฤติเศรษฐกิจปี 51-52 ที่มีสัดส่วนการ Deafult ของตราสารหนี้อยู่ที่ 19% เนื่องจากมองว่าผลกระทบดังกล่าวเป็นผลกระทบระยะสั้นที่ส่งผลให้กิจกรรมของภาคธุรกิจหยุดชะงักไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ประกอบกับบริษัทขนาดใหญ่ยังมีความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน และมีงบดุลที่แข็งแกร่ง ทำให้การล้มของบริษัทขนาดใหญ่ในครั้งนี้เป็นไปได้ยากมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อน และธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศได้อัดฉีดสภาพคล่องออกมาในจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็วช่วยพยุงไว้ ทำโอกาสที่สัดส่วนการ Default ของตลาดตราสารหนี้จะน้อยกว่าที่ผ่านมา

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ มองว่าจะต้องปรับพอร์ตการลงทุนที่ป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีงบดุลและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง เพื่อทำให้มั่นใจว่าธุรกิจที่เข้าไปลงทุนยังมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยได้ และมีเงินเพียงพอรองรับการไถ่ถอน

ประกอบกับเลือกตราสารหนี้ที่มีมูลค่าไม่แพง และให้อัตราดอกเบี้ยที่ดี อย่างเช่น ตราสารหนี้ในประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ที่มูลค่าถือว่าไม่แพง และให้อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 5% ต่อปี เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ในจีนที่มูลค่าสูง และอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 1% เป็น 1.5% ต่อปี ซึ่งนักลงทุนจะต้องมีการวิเคราะห์เลือกตราสารหนี้อย่างรอบคอบ และลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม เพราะยังมีโอกาสที่มูลค่าและผลตอบแทนของตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้นได้หลังสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว

นายตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า คำแนะนำในการจัดสรรพอร์ตการลงทุนของ เค เอเชีย แปซิฟิก บอนด์ (K-APB) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนที่ธนาคารได้พัฒนาร่วมกับ Lombard Odier นั้น ธนาคารยังคงน้ำหนักการลงทุนในระดับ 3% สำหรับพอร์ต Model 1 คือ การลงทุนในพอร์ตหลัก 60% และพอร์ตเสริม 40% และ 5%

สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นมาหรือ Model 2 คือ การลงทุนในพอร์ตหลัก 50% และพอร์ตเสริม 50% โดยที่ธนาคารยังคงมั่นใจว่าการลงทุนใน K-APB ยังคงเหมาะสมในภาวะดอกเบี้ยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไปอีกนาน สามารถคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากในระยะยาว และยังเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกองทุน K-APB ยังจะช่วยพอร์ตเสริมในส่วนของการเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top