ราชกิจจาฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.3 ฉบับให้อำนาจคลังกู้เงิน-รองรับ ธปท.ออกซอฟต์โลน

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก.3 ฉบับที่ดำเนินการภายใต้มาตรการระยะ 3 เพื่อดูแลเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่

1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

การประกาศ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนั้น เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นภาวการณ์แพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกประกอบกับโรคติดเชื้อดังกล่าวเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกันส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกและภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการระบาดของโรคดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

นอกจากนั้น การระบาดของโรคร้ายแรงนี้ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง ถือเป็นภัยพิบัติสาธารณะที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนและต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่งยวด

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ในการดำเนินมาตรการและวิธีการต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งและควบคุมการระบาดของโรคและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอในอันที่จะยุติการระบาดของโรคและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน แม้จะได้มีการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาเพื่อใช้จ่ายในการนี้แล้วก็ตาม

ในเบื้องต้นรัฐบาลประมาณการว่ามีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีการงบประมาณตามปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจ เป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะจึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

ส่วนการออก พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ เพื่อให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราวภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ อัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินจะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วงสองปีแรก โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนแรก

ในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงินให้ได้รับชดเชยความเสียหายตามที่ธปท.กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 70% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตาม พ.ร.ก.นี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 และ 60% สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ณ วันที่ 31 ธ.ค.62

ขณะที่ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการรองรับการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ ทุนประเดิมระยะแรกไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ กำหนดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ต้องมีลักษณะดังนี้ 1.เป็นตราสารหนี้ที่ออกใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด 2.ผู้ออกตราสารหนี้นั้นมีแหล่งเงินทุนอื่นที่มิใช่กองทุนไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากคณะกรรมการกำกับกองทุน

3.เป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ แต่ไม่รวมถึงตราสารหนี้ที่ออกเสนอขายให้แก่กองทุน ประชาชน หรือบุคคลใด ๆ ในคราวเดียวกันที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับต่ำกว่าลงทุนได้ ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าวได้กระทำโดยองค์กรที่ ธปท.กำหนด 4. ผู้ออกตราสารหนี้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน

นอกจากนั้น ราชกิจจานุเบกษายังออกประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563 นั้น เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศ สมควรกหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นการกำหนดจำนวนเงินสูงกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เพื่อขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่ไม่เกิน 5 ล้านบาท/บัญชีออกไปอีก 1 ปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top