สธ.แนะยึดหลัก 5 อ.ดูแลผู้สูงอายุป้องกันติดเชื้อโควิด-19

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ว่า จากรายงานผู้ติดโรคโควิด-19 พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิด ที่สำคัญคือกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 70 ปี หากติดเชื้อจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากสภาพร่างกายไม่แข็งแรง และมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้ประชาชนมุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งการป้องกันการติดเชื้อ และการป้องกันการถดถอยของร่างกายและสมอง เนื่องจากต้องเก็บตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน โดยยึดหลัก 5 อ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย เอนกายพักผ่อน และออกห่างสังคมนอกบ้าน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีคือกลุ่มที่มีชีวิตค่อนข้างแอคทีฟยังมีแรงอยู่มักจะชอบมีปฏิสัมพันธ์นอกบ้านซึ่งช่วงนี้อาจจะให้เก็บตัวอยู่บ้านมากขึ้น

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มติดบ้านกลุ่มนี้ค่อนข้างปลอดภัยแต่ในความเป็นจริงก็ต้องระวังตัว เพราะคนในครอบครัวอาจจะนำเชื้อจากข้างนอกมาติดตามที่มีข่าวเป็นระยะๆ วิธีแก้คือ เมื่อกลับมาจากนอกบ้านต้องล้างมืออาบน้ำสระผมก่อน ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุในบ้าน

กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มติดเตียง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ กลุ่มที่ดูแลที่บ้านดูเผินๆเหมือนจะปลอดภัยเพราะไม่ได้ไปไหนแต่ต้องมีคนดูแลใกล้ชิดต้องระวัง ขอให้มีการวัดไข้ก่อนที่จะมาดูแลผู้สูงอายุในบ้าน มีที่ล้างมือฟอกสบู่ให้เรียบร้อยก่อนที่จะมาดูแลผู้สูงอายุในบ้าน

ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงที่อยู่ที่สถานดูแลผู้สูงอายุ (เนอร์สซิ่งโฮม) หรือสถานพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชนถ้าอยู่ในสถานที่ดูแลอยู่แล้วก็ค่อนข้างจะปลอดภัย แต่ต้องเน้นการคัดกรองคนที่มาเยี่ยมคัดกรองบุคลากรที่เป็นผู้ดูแลตามสเต็ป และที่สำคัญต้องเฝ้าดูแลอาการผู้สูงอายุหากมีผู้สูงอายุคนนึงติดเชื้อต้องรีบแยกเข้าห้องแยกทันที

สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังหลีกเลี่ยงการไป รพ. โดยหากอาการทั่วไปดี คงที่ ผลการตรวจล่าสุดคงที่ ไม่มีปัญหา ให้รับยาทางไปรษณีย์ รับยาร้านยาใกล้บ้าน เลื่อนนัดให้นานขึ้น หรือให้คำปรึกษาทางไกล หากเป็นผู้ป่วยที่อาการแย่ลงหรือผลการตรวจล่าสุดมีปัญหา ให้มาตรวจตามนัดหรือใช้วิธีปรึกษาทางไกล แต่หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงฉุกเฉินไปห้องฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุติดเชื้ออาจแสดงอาการไม่ตรงไปตรงมา อาจไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน ไอไม่ชัด บอกไม่ได้ว่าเจ็บคอ จึงต้องสังเกตอาการอื่นด้วย เช่น หายใจเร็ว หอบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร รับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึมสับสนเฉียบพลัน หรือความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว หากพบอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ โรงพยาบาลที่ดูแลประจำ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้ตามศักยภาพของตัวเอง แต่ถ้ามีอาการที่รุนแรงมากขึ้นก็จะมีการส่งต่อตามระบบจากโรงพยาบาลเล็กมาโรงพยาบาลใหญ่ แล้วถ้าเป็นผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลจังหวัดของจังหวัดก็สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เกิดการพัฒนาและปรับระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ (New Normal Medical Services) คือ

  1. ระบบบริการใหม่ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล
  2. ระบบสนับสนุนการดูแลตนเองผ่าน Application และสื่อ
  3. ระบบข้อมูลด้านสุขภาพ การส่งต่อผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกัน
  4. ระบบบริการที่เข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้นด้วยระบบ IT การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบ drive thru การรับยาร้านยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ การปรึกษาทางไกล เป็นต้น
  5. ระบบการบริหารจัดการเตียงร่วมกันระหว่างหน่วยบริการ
  6. ระบบการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top