KBANK เผยกำไร Q1/63 วูบ 34.47% ตามรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยหดตัวแรง

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/62 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 6,581 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,463 ล้านบาท หรือ 34.47%

โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,830 ล้านบาท หรือ 11.21% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) จากเดิมรับรู้ตามสัญญา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม TFRS 9 ประกอบกับการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลง ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.49%

นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 4,869 ล้านบาท หรือ 39.78% ส่วนใหญ่เกิดจากความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 รวมทั้ง TFRS 9 กำหนดให้จัดประเภทและวัดมูลค่าของเงินลงทุนใหม่โดยสะท้อนในรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยนี้

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,471 ล้านบาท หรือ 9.19% ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดการหนี้ ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และค่าใช้จ่ายกิจกรรมทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 49.31% ทั้งนี้ ธนาคารมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้นจำนวน 4,292 ล้านบาท จากปีก่อน โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1/63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/62 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 6,581 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 2,221 ล้านบาท หรือ 25.23% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,512 ล้านบาท หรือ 9.82% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อตาม TFRS 9

ประกอบกับการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลง ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.49% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 8,785 ล้านบาท หรือ 54.37% ส่วนใหญ่เกิดจากความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 รวมทั้งการจัดประเภทและวัดมูลค่าเงินลงทุนใหม่ตาม TFRS 9 ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 3,695 ล้านบาท หรือ 17.45% เนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2562 ธนาคารมีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ และกิจกรรมทางการตลาด โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของธนาคาร ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 49.31% นอกจากนี้ ธนาคารมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจำนวน 3,047 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,483,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 189,638 ล้านบาท หรือ 5.76% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ และการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.86% โดยธนาคารได้มีการติดตาม ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65%

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 138.66% โดยสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 อยู่ที่ 18.53% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.17%

นายพัชร กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 1/63 หดตัวลงในเกือบทุกภาคส่วน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกหดตัวลงสอดคล้องกับสัญญาณถดถอยของเศรษฐกิจโลก ขณะที่มาตรการปิดเมืองของหลายประเทศมีผลกระทบต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ยังกดดันบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ และสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินไทย ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และใช้มาตรการเพิ่มเติมในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ขณะที่ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน (รวมถึง TFRS 9) ซึ่งมีผลต่อการจัดประเภทรายการใหม่ การวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงิน การตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง โดยปรับปรุงผลกระทบสะสมจากการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวเป็นครั้งแรกกับกำไรสะสม ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 รวมทั้งได้แสดงรายการในงบการเงินตามข้อกำหนดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปีก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top