ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรี เริ่ม 1 พ.ค.-31 ส.ค.

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับช่วงนี้มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดความสับสนในการวินิจฉัยและการดูแลรักษา ในปีนี้

กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงมีการรณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เร็วขึ้นจากเดือนมิ.ย. เป็น พ.ค. เพื่อจะช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทันต่อสถานการณ์

สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 13 เม.ย.63 มีรายงานผู้ป่วย 95,994 ราย ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 0-4 ปี รองลงมาคือ อายุ 10-14 ปี และ 7-9 ปี ซึ่งเป็นอายุที่อยู่ในกลุ่มวัยเรียน

กรมควบควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการรณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2563 ในระหว่างวันที่ 1 พ.ค. ถึง 31 ส.ค.63 จำนวน 4.11 ล้านโด๊ส เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยแล้วอาจจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิต โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และสำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่ติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ) ของผู้ป่วยผ่านการไอหรือจามรดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อมากและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน สำหรับกลุ่มเสี่ยง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้

“ประชาชนกลุ่มเสี่ยง สามารถขอรับบริการวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามวันและสถานที่ดังกล่าว”

อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก เช่น ห้างสรรพสินค้า และตลาด ซึ่งในช่วงนี้ควรงดจัดกิจกรรมและงานการแสดงต่างๆ และป้องกันตัวเองโดยยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่

  • ปิด คือปิดปากและปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง,
  • ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได,
  • เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย,
  • หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีอาการข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่สถานพยาบาล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top