‘สมคิด’ดึงเอกชนสร้างเศรษฐกิจชุมชนสู้โควิดรับแรงงานกลับภูมิลำเนา

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการร่วมหารือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ว่า ขณะนี้รัฐบาลโฟกัสในเรื่องการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกภาคส่วน และจะนำเงินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ส่วนหนึ่งราว 4 แสนล้านบาทมาเยียวยา โดยเน้นไปเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) เป็นหลัก เพราะต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวจะดีขึ้นได้ภายในปีนี้ จึงต้องหันมาเน้นเรื่องการบริโภคในประเทศและการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลัก

ส่วนมาตรการผ่อนคลายในบางจังหวัดต้องฟังคำแนะนำจากทางสาธารณสุขเป็นหลัก คงยังไม่ต้องรีบร้อน

“ในไม่ช้า ตัวมาตรการใน 3-4 เดือนข้างหน้าเรื่อง Local Economy จะค่อยๆออกมา ช่วยกันประคองให้ข้ามปีนี้ไป ปีนี้มีการทำนายว่า เศรษฐกิจทั่วโลกติดลบแน่นอน แต่ผมเชื่อว่าไทยสามารถผ่านพ้นไปได้ ขออย่างเดียวขอให้คนเราพอมีพอกิน”

นายสมคิด กล่าว

พร้อมฝากให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้ามามีส่วนร่วมการพัฒนา Local Economy ซึ่งจำเป็นมาก ซึ่งหลายคนที่ตกงานและกลับไปสู่ภูมิลำเนา จึงต้องทำให้คนเหล่านี้กลับเข้าสู่ภาคเกษตร โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือการจัดจำหน่ายหรือหมุนเวียนสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาสินค้าโอทอป ซึ่งเป็นทางรอดของคนไทย

ในวันนี้ นายสมคิด ได้หารือและรับข้อเสนอภาคเอกชน ทั้งมาตรการด้านภาษี มาตรการด้านการเงิน มาตรการประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน มาตรการด้านสาธารณูปโภค และมาตรการด้านอื่นๆ ประกอบด้วย

มาตรการด้านภาษี

1. ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ SME 3 ปีทุกธุรกิจ (ปีภาษี 63-65) โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filling
2. ให้กรมสรรพากรเร่งรัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลส่วนที่ชำระเกินภายใน 30 วัน
3. ขยายเพดานค่าลดหย่อนภาษีการกุศลของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ในปี 2563 โดยไม่จำกัดเพดาน
4. ปรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทกุประเภทเป็นอัตราเดียว คือ 1% เฉพาะปี 63

มาตรการด้านการเงิน

1. สินเชื่อที่รัฐให้เพิ่มสภาพคล่อง ขอให้บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80%
2. สถาบันการเงินปรับลดระยะเวลาพิจารณาประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโร จาก 3 ปี เหลือ 1 ปี
3. ขอให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในการจัดตั้ง Private Equity Trust ภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. โดยเข้าไปถือหุ้นในธรุกิจโรงแรมที่มีปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้

มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน

1. ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 63
2. ขอให้ยกเลิกการคิดไฟฟ้าตามเกณฑ์การใช้กระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ (Demand Charge) จนถีงสิ้นปี 2563 โดยคิดเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง
3. ขอให้พิจารณาคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจ SMEs ที่ใช้มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 50 แอมป์ด้วย เพื่อจะได้นำมาเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจช่วงวิกฤติ
4. ชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป 1 ปี

มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน

1. ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน
2. ผ่อนผันการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ(Work Permit) รวมถึงแรงงานต่างด้าวไป 6 เดือน
3. ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท โดยขอให้รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและยังมีการผลิตอยู่บางส่วน

มาตรการด้านอื่น

1. ให้รัฐประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) และให้เพิ่มแต้มต่อสำหรับธุรกิจ SMEs
2. เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA)
3. ขอขยายสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐออกไป 4 เดือน
4. ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐใช้ระบบ Online ในการออกใบอนุญาตและรับชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งบริการอื่นๆ
5. กกร. ได้จัดตั้ง E-Commerce Platform เพื่อช่วยอุตสาหกรรมไทย โดยขอให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ
6. จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อสนับสนุนด้านนวัตกรรมให้แก่ SMEs โดยภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 3 เท่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top