พลังงาน เล็งคลอดมาตรการช่วยค่าไฟภาคธุกิจยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำถึงสิ้นปี 63

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชนพร้อมด้วย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน โดยมีผู้แทนผู้ประกอบการจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 3 การไฟฟ้า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าร่วมหารือในวันนี้

นายสนธิรัตน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เพื่อแก้ปัญหาภาระค่าไฟฟ้าของภาคเอกชนจึงได้เชิญภาคเอกชนมาหารือ ซึ่งเป็นมาตรการที่กระทรวงพลังงานดำเนินการต่อเนื่องหลังจากก่อนหน้าที่ได้ช่วยเหลือค่าไฟกับกลุ่มบ้านพักอาศัยไปแล้ว โดยการหารือครั้งนี้ภาคเอกชนได้ร้องขอมาตรการช่วยเหลือสำคัญคือการยกเว้นการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) ที่กำหนดในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปดังนี้

1.การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ ซึ่ง กกพ. ได้เตรียมมาตรการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยจะยกเว้นการจัดเก็บดังกล่าว เป็นการจัดเก็บตามการใช้จริงเพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 (กิจการขนาดกลาง) ประเภทที่ 4 (กิจการขนาดใหญ่) ประเภทที่ 5 (กิจการเฉพาะอย่าง) ประเภทที่ 6 (องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร) ประเภทที่ 7 (สูบน้ำเพื่อการเกษตร) ซึ่งเดิม กกพ. ได้วางมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่เดือน เม.ย.- มิ.ย.63 แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการขอให้พิจารณาขยายต่อให้จากเดือนมิ.ย. จนถึงเดือน ธ.ค. 63 ซึ่ง กกพ. รับจะพิจารณาขยายต่อ

2.ผู้ประกอบการขอให้มีการผ่อนผันชำระค่าไฟฟ้าให้กับภาคธุรกิจด้านบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม โดย กกพ. ให้ผู้ประกอบการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งภาคบริการและภาคอื่น ๆ เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

3.การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลางและใหญ่ ซึ่ง กกพ. จะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

“การหารือในวันนี้ เรื่องที่ภาคเอกชนต้องการเรื่องผ่อนผันการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการแล้ว เพราะทางกระทรวงพลังงานโดย กกพ. ได้เตรียมวางมาตรการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงทำให้การประชุมวันนี้ที่มีท่านรองนายกฯสมคิด ร่วมเป็นประธานได้ข้อสรุปในระยะเวลาสั้นมาก สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทุกฝ่าย ซึ่งกระทรวงพลังงานทราบถึงความเดือดร้อนที่ทุกภาคส่วนได้รับจากสถานการณ์โควิดเป็นอย่างดี และพยายามที่จะผลักดันมาตรการพลังงานต่าง ๆ เพื่อบรรเทาและช่วยเหลือทุกกลุ่มให้มากที่สุด”

นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน

รมว.พลังงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงงาน และผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ ต้องลดกำลังการผลิตหรือหยุดให้บริการ ซึ่งหากยังคงจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ หรืออัตราการค่าไฟฟ้าเหมาจ่ายต่ำสุดที่ 70% ของความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน ก็จะทำให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงแม้จะใช้ไฟฟ้าน้อยมากในช่วงนี้

ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ผ่อนผันการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำดังกล่าวออกไปในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 ตามเดิมก่อน สำหรับกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง เช่น โรงแรม อพาร์ทเมนท์ หอพัก รวมทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และกิจการเกี่ยวกับการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งมีผลการคิดค่าไฟฟ้าดังกล่าวตั้งแต่รอบบิล เม.ย. 63 นี้ ส่วนการจะขยายระยะเวลายกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำออกไปอีกถึงสิ้นปีนี้ ต้องรอการพิจารณาจากกกพ.อีกครั้งก่อน

สำหรับการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ หรือผู้ที่ใช้มิเตอร์ขนาด 30 แอมป์นั้น ในส่วนนี้ต้องรอให้ กกพ.พิจารณาอนุมัติก่อน โดยกลุ่มนี้มีทั้งสิ้น 114,453 ราย แบ่งเป็น เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยกิจการขนาดกลางมีทั้งสิ้น 23,921 ราย และกิจการขนาดใหญ่ 2,421 ราย ส่วนในเขตต่างจังหวัดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แบ่งเป็น กิจการขนาดกลาง 81,019 ราย และกิจการขนาดใหญ่ 7,092 ราย เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับการคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า 12,000-24,000 บาท/ราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top