สอวช.เปิดแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ผุดโครงการเร่งด่วนช่วยคนตกงาน-SME-นักเรียน

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 สอวช. ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำร่างแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยมุ่งฟื้นฟู 4 เรื่อง คือ

  1. ยกระดับทักษะผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิดเพื่อกลับสู่ตลาดงานหรือประกอบอาชีพใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ คนตกงานและนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่สามารถหางานได้
  2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ: สร้าง Growth Poles หรือเสาหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ชุมชน แรงงาน และบุคลากรที่กลับชนบท
  3. ฟื้นฟูและปรับโครงการเอสเอ็มอีสู่ธุรกิจที่มุ่งเน้นนวัตกรรมหรือ ไอดีอี โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ธุรกิจเอสเอ็มอี
  4. ปรับระบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนรองรับการเปิดเรียนหลังโควิด โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนระดับอนุบาล – มัธยมศึกษา

ทั้งนี้ จากข้อมูลการรายงานของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) พบว่า เกิดการว่างงานของแรงงานจากการปิดกิจการชั่วคราว 7.13 ล้านคน และแรงงานจำนวนมากย้ายถิ่นกลับชนบท วิกฤตครั้งนี้ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมทำให้เกิดความต้องการพัฒนาทักษะในบางสาขาเพิ่มเติม เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวดิจิทัล เป็นต้น

นอกจากนี้ ในประเด็นของนักศึกษาที่ใกล้สำเร็จการศึกษายังมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่มีงานทำ สอวช. จึงมีแนวคิดในการทำโครงการเพื่อยกระดับทักษะผู้ที่รับผลกระทบเพื่อให้สามารถกลับมาสู่ตลาดงานหรือประกอบอาชีพใหม่ได้ โดยการเสนิมสร้างและพัฒนาทักษะ (Reskill – Upskill) ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่เพื่อลดการว่างงาน และเพิ่มทักษะใหม่ให้บุคลากรเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างธุรกิจที่ใช้ความรู้และวิทยาการใหม่ โดยเสนอภาครรัฐ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม รวมถึงอุดหนุนการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ผ่านการสนับสนุนค่าเงินเดือนบางส่วนร่วมกับภาคเอกชน

ส่วนโครงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ: สร้างเสาหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ Growth Poles ด้วยนวัตกรรมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานรากนั้น เพื่อรองรับแรงงานจำนวนมากเดินทางกลับชนบทโดยที่ยังไม่มีงานรองรับ โดยโครงการดังกล่าวเน้นสร้างงานในชนบท ผ่านการใช้โมเดลสร้างผลิตภาพของชุมชนที่มีความสนิทสนม โดยมีนวัตกรรมการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ระบบริหารแบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือรูปแบบอื่นๆ ที่ชุมชนเป็นเจ้าของหรือมีหุ้นส่วนในกิจการ และมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน โครงการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเอสเอ็มอีสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรม โดยต่อยอดแนวคิดกองทุนนวัตกรรมเดิมคือมีการตั้งกองทุนนวัตกรรม

โดยให้บริษัทขนาดใหญ่ร่วมกันบริจาคเข้ากองทุนเพื่อใช้ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีทำนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยผู้บริจาค สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีนิติบุคคลได้ และรัฐมีบทบาทในการร่วมสมทบเงินเข้ากองทุน

โครงการนี้จะทำให้โจทย์ความต้องการได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเอสเอ็มอีร่วมกับ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ส่วนโครงการปรับระบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนรองรับการเปิดเรียนหลังโควิด และTransformation นั้น มีประเด็นที่ต้องเร่งพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์ให้เป็นแบบผสมผสาน รวมถึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านหลักสูตรแบบผสมผสาน พัฒนาการด้านการปฏิสัมพันธ์กับสังคมของเด็ก คือ เรียนรู้จากการไปโรงเรียน พบปะเพื่อนร่วมชั้นเรียน การพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ของครูผู้สอนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา และพัฒนาระบบและการสื่อการสอนแบบออนไลน์ สำหรับระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา
รวมถึงการจัดเตรียมมาตรการในการเปิดสถานศึกษาหลังการระบาดด้วย

นายกิติพงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมเสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมวิเคราะห์หาหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแท้จริงรวมถึงลงรายละเอียดระยะเวลาการอบรม และช่องทางการเข้าถึงที่เหมาะสม โดยคณะทำงานที่เร่งให้ตั้งขึ้นนี้จะต้องรีบจัดทำโรดแมพเพื่อหาทักษะใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดและเหมาะกับประเทศไทย ส่วนธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เสนอแอพพลิเคชั่นที่มีดำเนินการสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและมีเครือข่ายอยู่แล้ว สามารถนำโครงการที่สอวช. คิดขึ้น อาทิ โปรแกรมการท่องเที่ยวเสมือนจริง ไปเพิ่มลงในแอพลิเคชั่นได้

ส่วนในประเด็นการสร้างอาชีพในชุมชน สำหรับแรงงานที่กลับชนบท ที่ประชุมสะท้อนให้เห็นว่าคนในชุมชนไม่สามารถลงทุนได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการรวมกลุ่มต้องอาศัยภาคเอกชนและภาครัฐที่มีหน่วยงานที่กระจายอยู่แต่ละพื้นที่มาสร้างพลังและให้องค์ความรู้กับชุมชนและสิ่งสำคัญคือสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องดูความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม สอวช.จะรับข้อเสนอไปพัฒนาร่างแพ็กเกจ รวมถึงลงรายละเอียดการออกแบบกลไกแต่ละโครงการให้ชัดเจนมากขื้นเพื่อเสนอต่อรัฐบาลผ่านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top