รมว.เกษตรฯ คาดเงินเยียวยา 5 พันงวดแรกถึงมือเกษตรกรราวกลางเดือนพ.ค.นี้

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการเยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนว่า คาดว่าเงินงวดแรกจะถึงมือเกษตรกรประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรอยู่ระหว่างดำเนินการ เบื้องต้น 10 ล้านครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ และให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ เช่น ในส่วนของอ้อยที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแล ยาสูบที่กรมสรรพสามิตกระทรวงการคลังดูแล หลังจากงานหน่วยงานเหล่านี้ตรวจสอบก็จะส่งข้อมูลมาให้กระทรวงเกษตรฯ เพื่อที่จะตรวจสอบความซ้ำซ้อน

ขณะเดียวกันก็จะเปิดโอกาสให้เกษตรสหกรณ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรืออาจจะตกหล่นให้รีบไปขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เมื่อรวบรวมได้แล้วก็จะมีการตรวจสอบความซ้ำซ้อนและก็จะส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับโครงการที่กระทรวงการคลังและจ่ายเงินไปก่อนหน้านี้

“โครงการเยียวยาเกษตรกรด้วยเงิน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนนี้ เราต้องการที่จะช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ไม่รับภาระจนมากเกินไปนี่คือสิ่งที่รัฐบาลคิด เพราะฉะนั้นจะพยายามไม่ให้ซ้ำซ้อนและส่งมอบความช่วยเหลือให้ทั่วถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ”

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ไม่กังวลว่าจะเกิดปัญหาความซ้ำซ้อนเนื่องจากเราใช้ระบบการตรวจสอบด้วยเลข 13 หลัก โดยคาดว่าเงินเยียวยาในแต่ละงวดจะออกประมาณกลางเดือน เพราะว่าใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินก็จะมีระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ ซึ่งเท่าที่กระทรวงการคลังแจ้งไว้ก็คือประมาณกลางเดือนนี้น่าจะจ่ายเงินงวดแรกได้

ส่วนเรื่องการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า เนื่องจากตนไม่ได้เป็นคณะกรรมการทำให้เพิ่งทราบเมื่อวานนี้ว่าจะมีวาระการประชุมกันในวันนี้ แต่ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะผลิตอาหารปลอดภัย เกษตรปลอดภัย นี่คือสิ่งที่เราดำเนินการมาตั้งแต่ต้น เกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์คือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต

“สารเคมีทุกตัวมีความอันตรายไม่ใช่เฉพาะแค่ 3 สาร สารเคมีตัวอื่น ผมก็ได้เสนอและชี้แจงไปในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วว่า ควรจะมีมาตรการจำกัดการใช้เหมือนกันทั้งหมดเพราะไม่เช่นนั้นสารเคมีอันตรายทุกตัวครับ ผมยืนยันแนวคิดเดิม ต้องทำให้เกษตรเราปลอดภัยให้ผู้บริโภคปลอดภัย ผลิตอาหารที่ปลอดภัย การแบนสารไม่ควรเลื่อนไปปลายปี..เพราะฉะนั้นเห็นว่าถ้ามติออกมาเป็นอย่างไรก็ควรดำเนินการตามมตินั้น”

นายเฉลิมชัย กล่าว

ส่วนเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นั้น นายเฉลิมชัยกล่าวว่า เป็นไปตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ตราบใดที่ยังตกลงกันไม่ลงตัวก็จะไม่เสนออีก เพราะฉะนั้นก็ยกเลิกการเจรจาขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกไปก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top