กต.ติดตามพัฒนาการ ‘ร่างปฏิญญาการเมือง’ สู้โควิด-19 พรุ่งนี้

รายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 พ.ค.นี้ จะมีประชุมสุดยอดกลุ่มเฉพาะกิจของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดโดยวิธีออนไลน์ เพื่อรับมือกับ โควิด-19 (Online Summit Level Meeting of the NAM Contract Group in response to COVID-19) เพื่อรับรองร่างสุดท้าย ว่าด้วยปฏิญญาทางการเมือง โควิด-19 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไทย เตรียมติดตามพัฒนาการในประเด็นดังกล่าว อย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจไม่ต้องแสดงท่าทีเรื่องการเข้าร่วมอยู่ในกลุ่มเฉพาะกิจนี้ แต่ร่วมรับรองปฏิญญาฯ ได้

โดยเมื่อ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบรับรองการร่างปฏิญญาทางการเมือง โควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ โควิด-19 รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการส่งสินค้า โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหารให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบ โดยตระหนักว่าประเทศกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้มากที่สุด และต้องได้รับการเยียวยาและฟื้นฟู

นอกจากนี้ มาตรการการให้ความช่วยเหลือจะต้องดำเนินการอย่างทั่วถึง ไม่แบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ และต้องไม่มีการใช้มาตรการบังคับฝ่ายเดียวด้านการเงินและการค้า ซึ่งจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปฏิญญาฉบับนี้ สนับสนุนการดำเนินงานของเลขาธิการสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัยด้านการแพทย์ และความร่วมมือจากนานาประเทศในการพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจากทุกประเทศต่อไป

โดย การจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงาน NAM (NAM Task Force) โดยมีภารกิจในการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม และตรวจสอบการดำเนินการตามร่างปฏิญญาฯ ฉบับนี้ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกที่ปฏิบัติได้จริง และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกับประเทศอื่น ๆ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ในวันที่ 4 พ.ค. สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในฐานะประธานกลุ่มผู้ประสานงานของกลุ่ม NAM จะจัดการประชุม ภายใต้ห้วข้อ “United against COVID-19” รูปแบบการจัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจ เพื่อรับมือกับ โควิด-19 “NAM Contact Group in response to COVID-19” ประกอบด้วยรัฐสมาชิก NAM จากภูมิภาคต่าง ๆ ภูมิภาคละไม่เกิน 4 ประเทศ จาก 120 ประเทศ ในระดับผู้นำ เพื่อเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมฯ มีวาระการหารือเกี่ยวกับ การแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นการเฉพาะ โดยถือเป็นเอกสารผลลัพธ์ของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ ยังไม่มีประเทศใดยืนยันการเข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้รับความชัดเจนในเรื่องเกณฑ์การคัดเลือกประเทศต่างๆ ในฐานะผู้แทนแต่ละภูมิภาคเข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานจะยังคงผลักดันให้การประขุมฯ เกิดขึ้น และรับรองร่างปฏิญญาฯ ซึ่งจะถือเป็นเอกสาร ผลลัพธ์ของกลุ่มประเทศไม่ฝืกใฝ่ฝ่ายใดทั้งหมด

ดังนั้น ไทยจึงอาจไม่ต้องแสดงท่าทีเรื่องการเข้าร่วมอยู่ในกลุ่มเฉพาะกิจนี้ แต่ร่วมรับรองปฏิญญาฯ ได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ จะติดตามพัฒนาการในประเด็นดังกล่าว อย่างใกล้ชิดต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top