สมาชิก RCEP ถกเข้มโน้มน้าวอินเดียกลับเข้าร่วมโต๊ะเจรจา

มุ่งลงนามความตกลงปลายปีนี้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เปิดเผยว่า ผู้แทนจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) ได้ร่วมการประชุมระดับคณะกรรมการ ครั้งที่ 29 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 20-29 เม.ย.63

โดยความสำเร็จที่สำคัญในครั้งนี้ สมาชิก RCEP ได้หารือประเด็นคงค้างของอินเดีย และร่วมกันจัดทำเอกสารข้อเสนอที่จะยื่นให้อินเดียพิจารณากลับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง RCEP ตามที่ผู้นำและรัฐมนตรี RCEP ได้ตกลงไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำ RCEP เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้ RCEP เป็นเวทีแห่งการสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่มั่นคงในภูมิภาค ที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ สำหรับเอกสารข้อเสนอที่จะยื่นให้อินเดียระบุถึงการหาทางออกในประเด็นอ่อนไหวของอินเดีย ในเรื่องการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสมาชิก RCEP ซึ่งอินเดียมีความกังวลในปัญหาการขาดดุลการค้ากับหลายประเทศใน RCEP และข้อเสนอกระบวนการหารือตามกรอบเวลา เพื่อให้ทันต่อการลงนามความตกลงในปลายปีนี้ โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับอินเดียในรายละเอียดต่อไป

นายรณรงค์ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้สามารถหาข้อสรุปได้อีกหลายเรื่อง ได้แก่ 1) การปรับตารางข้อผูกพันเปิดตลาดของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน 2) การจัดตั้งกลไกการทำงานของ RCEP ภายหลังที่รัฐมนตรี RCEP ได้ลงนามในความตกลง และเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ และ 3) ความคืบหน้าของการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเพื่อเตรียมให้รัฐมนตรี RCEP ลงนามในความตกลง โดยจะมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายให้เสร็จทั้ง 20 บท ภายในเดือนก.ค.63 เพื่อให้สมาชิกมีเวลาที่เหลือเตรียมการภายในประเทศให้เสร็จสิ้นทันต่อการลงนามความตกลงในปีนี้

“ความตกลง RCEP จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างกิจกรรมการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจในภูมิภาคในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลจึงเล็งเห็นโอกาสของไทยในการใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP เพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศทันที เมื่อความตกลงมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าได้เร็วกว่าหลายประเทศนอกภูมิภาค”

นายรณรงค์กล่าว

สำหรับสินค้าไทยที่จะใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP อาทิ น้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง ข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ รวมทั้งแผนการฟื้นฟูและส่งเสริมธุรกิจบริการไทย อาทิ ก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจสุขภาพ ท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง พร้อมปรับกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนคุณภาพให้กลับเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย หลังวิกฤตโควิด-19 อาทิ นวัตกรรมดิจิทัล เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ และระบบโลจิสติกส์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top