In Focus: จับกระแส “New Normal” วิถีปกติใหม่ หลังโลกเผชิญโควิด-19

ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่ง ณ วันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 3.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.6 แสนคนนั้น หลายคนคงได้ยินการพูดถึงคำว่า New Normal หรือความปกติใหม่กันบ้างแล้ว ซึ่งถ้าจะแปลความหมายให้ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์โลก New Normal ก็น่าจะหมายถึง “วิถีชีวิตปกติแบบใหม่” ของผู้คนที่ยังคงต้องอยู่กันอย่างระแวดระวังต่อไปอีกนาน เพื่อป้องกันตัวเองจากไวรัสโควิด-19 เพราะตอนนี้ โลกของเรายังไม่มีวัคซีนที่จะใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสร้ายดังกล่าว ดังนั้น พฤติกรรมของผู้บริโภค, การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน, ระบบธุรกิจ และเศรษฐกิจทั่วโลก จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อปรับตัวรับกับสภาวะที่โรคโควิด-19 จะยังไม่หายไปจากโลกในระยะเวลาอันใกล้นี้ หรือเพื่อปรับตัวให้คุ้นชินกับสถานการณ์โลกที่ยังคงต้องเผชิญกับโรคระบาดต่อไปจนกว่าจะมีวัคซีนมากำราบไวรัสอุบัติใหม่ตัวนี้

In Focus สัปดาห์นี้จะพาผู้อ่านไปหาคำตอบกันว่า นับจากนี้ไป New Normal ความปกติใหม่ หรือวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ จะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อไปอย่างถาวรหรือไม่ แม้กระทั่งหลังจากที่ไวรัสโควิด-19 อาจจะหายไปจากโลกใบนี้แล้วในอีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดว่า โลกจะสามารถพัฒนาวัคซีนออกมาใช้ปกป้องมนุษย์จากไวรัสตัวนี้ได้

New Normal คำเก่าที่ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใช้ใหม่

คำว่า New Normal ได้ถูกหยิบหยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจริงๆ แล้ว คำนี้ไม่ใช่ศัพท์ใหม่แต่อย่างใด เพราะเคยถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในช่วงที่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) หรือที่เราเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 (Hamburger Crisis 2008) ซึ่งปะทุขึ้นในสหรัฐ

ท่ามกลางวิกฤตการเงินและสินเชื่อด้อยคุณภาพในครั้งนั้น บิลล์ กรอสส์ (Bill Gross) นักลงทุนด้านตราสารหนี้ชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) ได้ใช้คำว่า New Normal ในการนิยามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวที่เกิดขึ้นในสหรัฐระหว่างปี 2550-2551 และการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (Great Recession) ในช่วงปี 2551-2555 เพราะกรอสส์เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะปกติแบบใหม่ (New Normal) แล้ว หลังจากที่ถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินดังกล่าว

ณ ปัจจุบันนี้ คำว่า New Normal ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะบรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ชีวิตผู้คน, ภาวะธุรกิจ ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมบนโลกใบนี้ จะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ทุกภาคส่วนได้เผชิญกับผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดจากไวรัสโควิด-19

ด้านราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ New Normal ว่า ความปกติใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต อันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติ และเคยคาดหมายล่วงหน้าได้นั้น ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

วิถีชีวิตปกติแบบใหม่ที่ผู้คนบนโลกต้องปรับตัวให้รอดพ้นจากโควิด-19

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปแล้ว และอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลก็เป็นได้ ทุกคนต้องปรับพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อให้รอดพ้นจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และเพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากการที่ไวรัสนี้แพร่ระบาดไปทั่วโลก

มาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ได้เป็นตัวเร่งให้ผู้คนทั่วโลกต้องปรับตัวรับกับภาวะปกติแบบใหม่ แม้กระทั่งหลังจากที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมลงแล้วก็ตาม แต่ทุกๆ คนบนโลกก็ยังคงต้องใช้ชีวิตกันอย่างระมัดระวังต่อไปจนกว่าจะมีวัคซีนออกมาป้องกันไวรัสนี้

เราเริ่มเห็นวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ของผู้คนบนโลกจากเรื่องใกล้ๆ ตัว เริ่มจากการที่เรามองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ผู้คนสวมใส่หน้ากากปิดจมูกปิดปากกันเป็นแถว หน้ากากหลากสีหลายประเภทได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายที่ขาดไม่ได้ไปแล้วในการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อเราต้องออกนอกบ้าน สถานการณ์โรคระบาดบังคับให้เราต้องใส่หน้ากาก เพราะถ้าเราไม่ใส่ เราก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ทั้งจากผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ดังนั้น การใส่หน้ากากตลอดเวลาจึงกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในขณะนี้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้คนในประเทศแถบตะวันตกที่เคยต่อต้านการใส่หน้ากาก ก็ต้องเปลี่ยนความคิดไปโดยปริยาย เพราะรู้แล้วว่าไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วผ่านทางฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการเมื่อมีการไอหรือจาม มาถึงตอนนี้ คนที่ไม่ใส่หน้ากากต่างหากที่กลับถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดเมื่อเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ และอาจถึงขั้นถูกห้ามไม่ให้เข้าไปยังสถานที่นั้นๆ ด้วย

นอกจากการใส่หน้ากากแล้ว พฤติกรรมปกติแบบใหม่อื่น ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนบนโลกใบนี้เพื่อที่จะป้องกันตัวจากโควิด-19 นั้น ยังรวมไปถึงการที่ประชาชนอย่างเราๆ ต้องปรับตัวกับการใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น การทำงานจากที่บ้าน การเรียนการสอนออนไลน์ การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การช้อปปิ้งออนไลน์ การพกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัว การรับประทานของร้อน การไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และการล้างมือบ่อย ๆ เป็นต้น

ภาคธุรกิจก็หนีไม่พ้น New Normal ต้องเร่งปรับตัวรับมือกับโลกยุคโควิด-19 แพร่ระบาด

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้หลายธุรกิจบนโลกใบนี้ถึงขั้นล้มหายตายจากไปเลยก็มี ขณะที่หลายธุรกิจสามารถกลับผงาดขึ้นมาใหม่อีกครั้งจากการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ขณะที่อีกหลายธุรกิจมีทีท่าว่าจะไปไม่รอด ถ้าไม่รีบปรับตัวรับกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรม New Normal ของผู้บริโภคที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร

ธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเพราะอานิสงส์ของมาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคมท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็คือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซประเภทร้านค้าออนไลน์ ธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าและอาหาร (Delivery) รวมไปถึงธุรกิจการเงินที่ก้าวเข้าสู่สังคมแบบไร้เงินสดมากขึ้น

เจ้าของธุรกิจร้านค้าแบบออฟไลน์ ถ้าอยากจะอยู่รอด ก็ต้องปรับกลยุทธ์จากการขายสินค้าหน้าร้าน (brick and mortar) ไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคบนโลกใบนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ยิ่งไวรัสโควิด-19 อยู่กับเรานานเท่าใด ผู้คนก็จะเริ่มคุ้นชิน และชื่นชอบมากขึ้นกับความสะดวกสบายที่ได้รับจากการสั่งซื้อสินค้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แทนการออกไปช็อปปิงนอกบ้าน ซึ่งเสี่ยงต่อการติดโรค ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ อาจต้องหันไปพึ่งพาระบบไอทีและดิจิทัลกันมากขึ้น เพราะธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ จะถูกกระทบ (disrupt) โดยมีไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างเร่งด่วน และอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าต้องการที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก

ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจด้านการศึกษาเอง ก็ยังต้องปรับตัวไปสู่ระบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันด้านการศึกษาต่างๆ ต้องเร่งให้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ผ่านทางระบบ E-learning และ Digital Content เพื่อทำให้การเรียนหนังสือสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในสถานศึกษาอีกต่อไป เพราะหากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบ การเรียนการสอนทางออนไลน์ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าสำหรับการศึกษาที่ปลอดภัยกับสุขภาพ และอาจจะกลายเป็นวิถีปกติแบบใหม่ หรือ New Normal อย่างถาวรของวงการการศึกษาก็เป็นได้

New Normal ของเศรษฐกิจโลกหลังถูกกระทบจากโรคระบาด

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ จนลุกลามไปถึงเศรษฐกิจโลกรัฐบาลของแต่ละประเทศต่างก็ระดมออกมาตรการเพื่อรับมือและเยียวยากับผลกระทบทางเศรษฐกิจ บรรดาผู้กำหนดนโยบายคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจปกติแบบใหม่ หรือ New Normal ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีนออกมาช่วยปกป้องโลกจากไวรัสร้ายตัวนี้ หรือจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจไปสู่รูปแบบใหม่อย่างถาวร เพื่อรับมือกับผลกระทบในอนาคตจากการแพร่ระบาดของไวรัสตัวใหม่ ๆ ที่อาจจะอุบัติขึ้นอีกจากประเทศใดประเทศหนึ่งก็เป็นได้

ผลกระทบของโควิด-19 อาจทำให้เกิด New Normal ด้านแนวคิดเศรษฐกิจปกติรูปแบบใหม่ โดยเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่มีแนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) เป็นกระแสหลักนั้น อาจจะหันกลับไปสู่แนวคิดแบบสังคมนิยม (Socialism) มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้จะละทิ้งกลไกการตลาดในการจัดสรรทรัพยากร หรือหลักการเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของทรัพย์สินเอกชน (Property Right) แต่จะเป็นการให้น้ำหนักกับการออกแบบระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นเจ้าของร่วมในกิจกรรมที่จำเป็น การผลิตสินค้าและการบริการเพื่อจัดสรรให้กับผู้คนโดยไม่ใช่การจัดสรรเพื่อการขายผ่านทางกลไกตลาดอีกต่อไป รวมไปถึงการสร้างสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้คนในสังคมมากขึ้น เพื่อที่จะป้องกันผลกระทบของวิกฤตใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

การรับมือของประเทศทั่วโลกกับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มหรือข้อเสนอเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบสังคมนิยมมากขึ้น เช่น การแจกเงินเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องออกจากบ้านหรือไปทำงาน โดยหวังที่จะควบคุมการแพร่ระบาด การพัฒนาระบบหลักประกันด้านสุขภาพที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รวมไปถึงการทำให้ระบบบริการสุขภาพกลายเป็นของรัฐ (Nationalization)

นโยบายเศรษฐกิจแบบ New Normal จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น จากเดิมที่รัฐบาลของแต่ละประเทศเน้นการบริหารเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP เป็นสำคัญ เพราะวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นด้วยการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ เพื่อที่จะรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น นโยบายการผลักดันให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนมีการสร้างหลักประกันด้านรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับออมหรือการทำประกันรายได้ของแรงงานทั้งในและนอกระบบ เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านรายได้เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา

ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งกระบวนการระบบเศรษฐกิจอัตโนมัติ (Autonomous Economy) ซึ่งจะกลายเป็น New Normal ในที่สุด เพราะวิกฤตขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดครั้งนี้ ได้เร่งให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่แรงงานคน เพื่อทำให้กิจกรรมและกระบวนการผลิตดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก เพราะเครื่องจักรไม่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนั่นเอง

นอกจากนี้ ผลกระทบจากโควิด-19 ยังจะทำให้โลกาภิวัตน์ (Globalization) ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มก้าวถอยหลัง เพราะการบริหารเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะลดการพึ่งพาต่างประเทศ (Deglobalization) และหันมาให้น้ำหนักกับการพึ่งพาตัวเองภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากโรคระบาดทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักทั่วโลก และห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) สะดุดขาดตอน ดังนั้น New Normal หรือวิถีปกติแบบใหม่ของเศรษฐกิจโลก อาจจะเปลี่ยนไปเป็นการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น เป็นชาตินิยมมากขึ้น และเน้นหนักไปที่การสร้างชุมชนเศรษฐกิจในประเทศที่มีความยั่งยืน (Self-sustained Communities) เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสามารถจะปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในยามคับขัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและโลกาภิวัฒน์ไปโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด

มาถึงตอนนี้ ผู้อ่านคงได้เห็นภาพรวมกว้าง ๆ ของวิถีในโลกใหม่หลังถูกไวรัสโควิด-19 เล่นงานอย่างหนักในทุกภาคส่วนแล้ว โดยเริ่มจาก New Normal ใกล้ๆ ตัว ซึ่งได้แก่การดำรงชีวิตประจำวันตามปกติในรูปแบบใหม่ เพราะมนุษย์ต้องปรับตัวอยู่กับโรคโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัยไปอีกระยะหนึ่ง และ New Normal ก็ยังครอบคลุมไปถึงวิถีปกติใหม่ของภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจระดับโลกด้วย

ไม่มีใครตอบได้ว่าโลกจะต้องรอวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ไปอีกนานแค่ไหน และวิกฤตโรคระบาดนี้จะจบสิ้นเมื่อใด ดังนั้น สิ่งที่ผู้คนบนโลกใบนี้จะสามารถทำได้ในตอนนี้ก็คือ การต้องปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตปกติแบบใหม่หรือ New Normal เพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากผลกระทบในด้านต่างๆ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดทั่วโลกครั้งใหญ่นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top