สธ.เข้มเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ช่วงผ่อนปรน เน้นค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเข้มข้นมาตรการป้องกันควบคุมโรค ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด และกทม. เน้นการเฝ้าระวัง ค้นหา โรคไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง รวมทั้งให้สถานประกอบกิจการ/กิจกรรมที่กลับมาเปิดบริการ ปฏิบัติตามมาตรการและข้อแนะนำของคณะกรรมการ ฯ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ พนักงาน และผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2

ผลการคัดกรองค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและสถานควบคุมโรคแห่งรัฐตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน – 8 พฤษภาคม 2563 รวม 9,516 ราย แบ่งเป็น กลุ่มเสี่ยงตามอาชีพ 4,820 ราย ได้แก่ ผู้เดินทาง รถรับจ้างสาธารณะ รถรับจ้างบุคคล บุคลากรของรัฐ และอื่น ๆ เช่น ค้าขาย พนักงานบริษัท เกษตรกร นักศึกษา) และกลุ่มสถานที่เสี่ยง 1,152 ราย ได้แก่ ชุมชนคลองเตย เรือนจำ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในคลินิกชุมชนอบอุ่น 2 แห่ง ในวัด (พระ/ผู้ดูแลอาราม และประชาชน) และกลุ่มหมู่บ้านจัดสรร ผลการตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19

สำหรับกรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในเขตเมือง (สปคม.) นำแอพพลิเคชัน clicknic มาใช้ในการเฝ้าระวังเชิงรุกกลุ่มประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรที่มีจำนวนมาก สามารถวิดีโอคอล (VDO Call) ปรึกษาอาการกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อคัดกรองอาการเบื้องต้น ไม่ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล หากพบความเสี่ยงจะแนะนำเข้าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ ได้เร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกใน 4 กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มสถานที่แออัด ได้แก่ ชุมชนแออัด วัด เรือนจำ / กลุ่มหมู่บ้านจัดสรร / กลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในคลินิกอบอุ่น / กลุ่มผู้เดินทางทุกระบบ ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ผู้โดยสารสาธารณะ

ส่วนกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหมคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ที่มีจำนวน 8 แห่ง และจัดเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ติดตามดูแลทุกแห่ง ผลการตรวจคัดกรองจำนวน 3,544 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 13 ราย

ด้านายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้งสถานที่กักตัวทั้ง State Quarantine และ Local Quarantine ไว้สังเกตอาการผู้เดินทางจากต่างประเทศทุกช่องทาง ขณะนี้มี State Quarantine 23 แห่ง และ Local Quarantine ใน 12 เขตสุขภาพรองรับได้ 13,491 คน ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 รับผู้เดินทางจากต่างประเทศไว้สังเกตอาการประมาณ 10,000 ราย พบผู้ติดเชื้อ 87 ราย แยกเป็น State Quarantine 21 ราย และ Local Quarantine 66 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางจากประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ซึ่งหากรัฐบาลไม่กักตัวไว้สังเกตอาการ จะทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคได้ อาจมีผู้ติดเชื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ราย

นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวว่า เรายังต้องคงมาตรการกักกันผู้เดินทางจากต่างประเทศให้ครบ 100% เพื่อลดการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ ขณะเดียวกันต้องเข้มข้นมาตรการเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อในประเทศ เพื่อนำเข้าสู่การรักษา ป้องกันควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว ลดการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับที่ระบบของเรารองรับได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลได้ผ่อนปรนให้เปิดกิจการ/กิจกรรมบางประเภทที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ขอให้เจ้าของกิจการ ผู้รับบริการ และประชาชน ยังคงเข้มการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ ลดการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้าง

“แม้จำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง แต่ยังคงต้องดำเนินการคู่ขนานกันต่อไปจนกว่าสถานการณ์ผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรม จะมีความเข้มข้นของมาตรการ”

นายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการจัดมาตรการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ได้เลือกต้นแบบการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนคลองเตย เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่จำนวนกว่า 120,000 คน ได้นำแบบสอบถามลงไปสำรวจ 9,500 คน มีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมาประมาณ 7,500 คน ต่อมานำมาคัดกรอง ทำให้พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 275 คน ในจำนวนนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่คนเดียว

ขณะที่หมู่บ้านจัดสรร ได้ดำเนินการค้นหาไปแล้ว 3 หมู่บ้าน คัดกรองผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคกว่า 300 คน แต่ก็ไม่พบมีผู้ติดเชื้อเช่นกัน

“ห่วงบ้านจัดสรร เพราะเราเข้าไม่ถึง ไม่มีกลไกภาครัฐเข้าไป เพราะมีนิติบุคคล มีรั้วกั้น เราไม่รู้สถานการณ์ที่แท้จริงของการระบาด แสดงว่าการระบาดยังไม่เจาะลงไปในพื้นที่ที่เราเข้าไม่ถึง”

กลุ่มคอนโดมิเนียม นี่คือความเป็นเมือง ระบบข้อมูล การรายงาน เข้าไม่ถึงหน่วยงานภาครัฐ

นอกจากนี้ยังได้คัดกรองกลุ่มเปราะบางกลุ่มใหญ่ของความเป็นเมืองอีกกลุ่ม คือ เรือนจำ โดยได้ดำเนินการ 2 เรือนจำ แต่ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน

“ยืนยันว่าสถานการณ์ ณ ขณะนี้ แสดงว่าเชื้อลดลงจริงในพื้นที่ ในชุมชน ไม่ว่ากลุ่มเปราะบาง กลุ่มประชาชนทั่วไป แม้ว่าสถานการณ์จะไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากคนเข้ามาในประเทศ หรือ อาจมีเชื้อซ่อนเร้นในบางจุดที่เรายังหาไม่พบ”

ดังนั้นมาตรการ 2 อย่างที่สำคัญที่ช่วยลดได้ชัดเจน คือ การสวมหน้ากากอนามัย และการใช้เจลล้างมือ แต่ตัวหนุนเสริมที่ช่วยให้การระบาดลงได้เร็วคือ Social Distancing

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top