สธ.ขอความร่วมมือปชช.ดูแลสุขอนามัยเคร่งครัด สกัดโควิดระบาดรอบใหม่

หมอย้ำขออย่าปกปิดข้อมูล

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้แนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่จะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการคัดกรองหาผู้ป่วยในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนและสถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อสามารถเปิดกิจการ/กิจกรรมเพิ่มขึ้นในระยะที่ 2 ได้ในวันที่ 17 พ.ค. นี้ หากสถานการณ์ดีขึ้น

ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนนั้น สถานพยาบาลในประเทศกำลังเร่งพัฒนาตามยุทธศาสตร์การพึ่งพาตัวเอง ยังอยู่ในระยะทดลองในสัตว์ ซึ่งต้องใช้เวลาราว 24-36 เดือน ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง ทำให้ประเทศไทยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนหากการคิดค้นวัคซีนประสบความสำเร็จ

สำหรับความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั้น นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าต้องมีการจัดการเชิงระบบ การจัดเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ และการจัดเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ โดยในส่วนของสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการจัดเตรียมไว้เต็มที่และเพียงพอ โดยเป็นความร่วมมือทั้งสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีสามารถรองรับผู้ป่วยได้กว่า 2 พันเตียง และยังมีหอผู้ป่วยเฉพาะกิจอีก 500 เตียง แต่สถานพยาบาลจะเพียงพอหรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการดูแลสุขอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อ

ขณะที่ พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ แพทย์จากสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า ได้มีการคัดกรองแยกผู้ป่วยออกมาตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้เกิดการกระจายโรคจากผู้ป่วยไปยังบุคคลอื่นๆ โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องรับรู้ข้อมูลทั้งหมดว่าจะดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดการแพร่กระจายโรค และมีการเผยแพร่ประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการรักษาและการใช้ยาที่เหมาะสมให้กับสถานพยาบาลอื่นๆ เพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ด้าน นพ.พจน์ อินทลาภาพร แพทย์รพ.ราชวิถี กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มาเข้ารับการรักษาที่ รพ.ราชวิถี มีตั้งแต่ไม่แสดงอาการไปจนถึงผู้ป่วยหนักรวม 69 ราย โดยเป็นผู้ป่วยหนักถึง 33 ราย ทำให้ทีมแพทย์ได้รับประสบการณ์จากการรักษา และมีการปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ เข้ารับการรักษาล่าช้า แม้จะไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม ดังนั้นการไม่ปกปิดข้อมูลในการสอบสวนโรคกับทีมแพทย์จึงมีความสำคัญมากต่อการรักษา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top