TDRI ประเมินล็อกดาวน์ทำเศรษฐกิจไทยเสียหาย 6.5 หมื่นลบ./เดือน

แนะรัฐวางพื้นฐานรับ New Normal

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในการเสาวนาหัวข้อ “The Economic Impact of COVID-19” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชากรในประเทศมีรายได้ลดลง ส่งผลให้การบริโภคต่ำลงไปด้วย โดยการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจราวเดือนละ 65,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% ต่อเดือน จึงมองว่าควรที่จะมีการค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไปยังหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อย่างโรงแรม และห้างสรรพสินค้า ที่มีการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านคน ต่อมาคือด้านการผลิตยานยนต์ที่กระทบไปถึงรายเล็กๆ ในสายการผลิตด้วย รวมไปถึงกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซื้อหายไปทั้งจากประชาชนในประเทศ และลูกค้าจากประเทศจีน รวมทั้งกระทบไปยังผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของเกษตรกรที่ใช้แรงงานรวมกว่า 10 ล้านราย โดยก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งเกษตรกรที่ปลูกอ้อย ปลูกยาง และอื่นๆ ส่งผลให้ผลผลิตออกมาค่อนข้างต่ำ ต่อมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำลงอีก

นางสาวกิริฎา กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะถัดไปมองว่าควรจะเป็นการลงทุนที่ให้ประโยชน์ไปยังส่วนรวม และเป็นการวางพื้นฐานไปยังทั่วประเทศ เพื่อที่จะรองรับการทำงานในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อาทิ การวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ต 5G ที่จะช่วยการทำงานที่ได้ประสิทธิภาพ โดยจะเห็นได้จากธุรกิจเกี่ยวกับ Ecommerce, E-Service และบริการออนไลน์ด้านอื่นๆ ที่ได้รับผลดีจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

พร้อมทั้งแนะนำว่าถึงเวลาที่ภาครัฐควรเร่งทำงานด้านการตลาดมากขึ้น เพื่อรจูงใจนักลงทุนต่างชาติหรือผู้ประกอบการจากประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากนักลงทุนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่กลับมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการกระจายความเสี่ยงในการผลิต จากเดิมมองเรื่องค่าแรงต่ำเป็นหลัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศจีน และผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน รวมถึงประเทศอื่นๆกระจายการลงทุนออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการกระจายการลงทุน และมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับ

นางสาวกิริฎา กล่าวอีกว่า โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อาจจะมีการชะลอตัวออกไปได้บ้าง คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ขณะที่การท่องเที่ยวของไทยยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อาจจะเป็นช่วงปี 65-66 ส่งผลให้ความจำเป็นในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวไม่มากเท่าช่วงก่อนหน้านี้

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าจะออกมาในทิศทางใด หากไม่แย่ลงไปกว่านี้ หรือการแพร่ระบาดไม่มากแล้ว ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน แต่หากยังมีสถานการณ์ที่แย่ลงก็มีความจำเป็นที่จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top