RATCH เจรจาร่วมทุนโรงไฟฟ้าหลายแห่งรวม 800 MW คาดสรุปปีนี้

ศึกษาตั้ง รง.ผลิตรถไฟฟ้าแล้วเสร็จต้นปี 64

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทยังมุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้บรรลุเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 66 โดยอยู่ระหว่างเจรจาร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 800 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถสรุปข้อตกลงภายในปีนี้

ขณะที่มองเห็นโอกาสการพัฒนาระบบรางของประเทศที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้จับมือร่วมกับพันธมิตรศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟและรถไฟฟ้า การซ่อมบำรุง โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในต้นปี 64

“จากวิกฤติโควิด-19 บริษัทมองเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส…เศรษฐกิจยังชะลอตัวอยู่ แต่ทุกธุรกิจยังต้องมีไฟฟ้าเป็นพื้นฐาน วิถีปกติใหม่ ธุรกิจไฟฟ้าก็มีโอกาสมากขึ้น ธุรกิจไฟฟ้าบางแห่งอาจมีปัญหาถ้าการเงินไม่ดี ก็เป็นโอกาสที่จะทำ M&A มีมากขึ้นและเจรจาได้เร็วขึ้น ตั้งแต่ต้นปีเราตั้งเป้าอยากมีอย่างน้อย 5 โครงการ ไตรมาสแรกปิดแล้ว 2 โครงการ ไตรมาส 2 กำลังเจรจาอยู่น่าจะปิดดีลได้อย่างน้อย 1-2 โครงการ ไตรมาส 3 และ 4 ปิดดีลได้อย่างน้อย 1-2 โครงการ ทำให้ที่ตั้งเป้าไว้ 5 โครงการใหม่ในปีนี้น่าจะทำได้ตามเป้า ปี 63 ที่ตั้งเป้าว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น 780 เมกะวัตต์ ก็น่าจะเป็นไปได้ 800 เมกะวัตต์” นายกิจจา กล่าว

นายกิจจา กล่าวว่า โครงการเป้าหมายในอนาคตของบริษัทจะมีทั้งในส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานลม การจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลอัด (Wood Pellet) อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรคาดจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 2/63 เพื่อปลูกไม้โตเร็วมาทำเชื้อเพลิงอัดเม็ดขายให้กับประเทศที่สนใจ อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี โครงการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐ

สำหรับเป้าหมายการลงทุนในไทย อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม ฟิลลิปปินส์ ออสเตรเลีย เป็นต้น โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A-4B ในลาวอยู่ระหว่างเจรจาค่าไฟฟ้ากับ กฟผ.คาดว่าจะจบได้ภายในปีนี้ ขณะที่เวียดนามก็สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมากถึง 6,000 เมกะวัตต์ ก็เป็นโอกาสในการเข้าไปลงทุน ขณะที่โครงการในไทย ก็ให้ความสนใจโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแบบทั่วไป ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับผู้ร่วมดำเนินการแล้ว 2 โครงการ และอยู่ระหว่างรอการประกาศรับซื้ออย่างเป็นทางการของภาครัฐต่อไป

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินถึงราว 10% ก็ตามแต่ภาพรวมบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะการขายไฟฟ้าส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ราว 80-90%

ส่วนที่เหลือเป็นการขายให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมอุตสาหกรรมบางส่วน ขณะเดียวกันก็ยังเดินหน้าในใช้งบลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้ตามแผน โดยราว 1 หมื่นล้านบาทรองรับการซื้อกิจการ และอีก 1 หมื่นล้านบาทใช้รองรับโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา

ปัจจุบันบริษัทเตรียมแผนออกหุ้นกู้ในวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น 1.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงที่เหลือของปีนี้โดยรอดูสภาพตลาดที่เหมาะสม และวงเงินที่ออกยังขึ้นกับดีลการเจรจาซื้อกิจการด้วย อย่างไรก็ตาม หากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวยหรือหากทิศทางอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปอย่างที่คาดก็มีแผนสำรองด้วยการจัดหาจากวงเงินระยะสั้นราว 4.3 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้รองรับการลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 กระทบเล็กน้อยต่อแผนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนา 2 โครงการ ต้องเลื่อนการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ออกไป 6 สัปดาห์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดินในออสเตรเลีย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.63 ก็จะเลื่อนเป็นเดือน พ.ย.63 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเลกเตอร์ ในออสเตรเลีย ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนม.ค.64 ก็เลื่อนเป็นเดือนก.พ.64

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังแชงกังในจีน มีความคืบหน้าแล้ว 53% ตามแผนคาดว่า COD ในปี 64 , โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนเรียว ในอินโดนีเซีย คาดว่า COD ในกลางปี 64 ,โครงการโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี ระยอง ได้เริ่มก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนใน เม.ย.65

และมองเห็นโอกาสขยายตัวในอนาคตตามการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) , โครงการโรงไฟฟ้า REN ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า ประเภท Independent Power Supply (IPS) ระบบ Cogeneration ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.นครราชสีมา อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดจะดำเนินการแล้วเสร็จในกลางปี 66 ซึ่งหลังจากพัฒนาโครงการนี้แล้วก็มองโอกาสต่อยอดโครงการลักษณะเดียวกันได้ต่อไปในอนาคต

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) โรงไฟฟ้าหินกอง 2 ยูนิตใน จ.ราชบุรี กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์นั้น อยู่ระหว่างจัดทำ EIA ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ส่วนท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้า คาดว่าจะได้รับอนุมัติ EIA ภายในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาผู้รับเหมาและการจัดหาแหล่งเงินกู้ คาดว่าจะปิดดีลได้ในต้นปี 64 ก่อนจะเริ่มก่อสร้างในปีเดียวกัน และพร้อม COD ยูนิตแรก 700 เมกะวัตต์ในปี 67 และอีก 700 เมกะวัตต์ในปี 68

นายกิจจา กล่าวว่า สำหรับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกองนั้นยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์มากสุดต่อประเทศเพื่อให้ได้ต้นทุนเชื้อเพลิงถูกและส่งผลมาถึงค่าไฟฟ้าที่ถูกด้วย โดยอยู่ระหว่างเจรจาซื้อก๊าซฯกับ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งยังมีรายละเอียดเรื่องคุณภาพก๊าซฯในอนาคต ที่มีประเด็นต้องพิจารณเรื่องค่าความร้อนเนื่องจากในอนาคตไทยจะมีการนำเข้า LNG มาใช้ทดแทนก๊าซฯที่จะทยอยหมดไป ก็จะมีผลต่อการปรับจูนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่มีอายุสัญญาระยะยาวถึง 25 ปี

ขณะเดียวกันก็มีแผนจะนำเข้า LNG เข้ามาใช้เองสำหรับโครงการนี้ ปัจจุบัน กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทก็มีการนำเข้า LNG เข้ามาใช้สำหรับโรงไฟฟ้าของกฟผ.แล้วในราคาถูกก็เป็นโอกาสที่จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลงได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเปิดเสรีการนำเข้า LNG หรือไม่ ซึ่งยังมีระยะเวลาในการจัดหาก๊าซฯเพราะกว่าโครงการจะเริ่ม COD อยู่ในช่วงปี 67 และ 68

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 8,716.15 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 7,159.19 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 1,556.96 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันมีโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ (TECO) ขนาด 700 เมกะวัตต์ จะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเดือน ก.ค.63 ก็เตรียมที่จะขายซากโรงไฟฟ้าที่หมดอายุออกไป โดยปัจจุบันได้ให้ที่ปรึกษาประเมินมูลค่าซาก และเชิญผู้สนใจรับฟังร่างเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) หลังจากนั้นก็จะยื่นเอกสารเพื่อดำเนินการรื้อถอนต่อไป

นายกิจจา กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ปัจจุบันได้ร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองนั้น ปัจจุบันมีความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่จึงได้มีการขยายสัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จากเดิมที่จะเริ่มเดินรถในเดือน ต.ค.64 อาจจะเป็นช่วงเดือน ก.ค.65 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนสายสีชมพูอยู่ระหว่างเจรจากับ รฟม.เพื่อขยายระยะเวลาเดินรถเช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับพันธมิตร คือบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟและรถไฟฟ้า การซ่อมบำรุง คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน 1 ปีหรือต้นปี 64 เนื่องจากไทยมีแผนพัฒนาการขนส่งระบบรางมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้รถไฟหรือรถไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต และหากผลการศึกษาแล้วเสร็จและมีความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงาน ก็มีโอกาสที่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) อาจจะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการ Distric 9: เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ พัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี ซึ่งน่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.63 ก็จะมีโอกาสพัฒนาการลงทุนต่อไป รวมถึงยังคงเดินหน้าการลงทุนต่อเนื่องทั้งในส่วนของ Smart Infranet, Things On Net และธุรกิจน้ำประปาในลาว โดยแผนงานในอนาคตจะเร่งพัฒนาโครงข่าย IoT เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจและผู้บริโภค ,การลงทุนในนวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ของธุรกิจและสังคม รวมถึงการเร่งขยายพัฒนา Smart City

สำหรับผลการดำเนินไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้จากส่วนแบ่งกำไรกิจการร่วมทุนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีสัดส่วน 32.9% ของรายได้รวม ปัจจัยสำคัญมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาที่มีการเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ที่จะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปีในปีนี้

สำหรับรายได้รวม มีจำนวน 4.5 พันล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัท ควบคุมจำนวน 2.93 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64.9% ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 1.48 พันล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ จำนวน 101.13 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรก่อนรับรู้ผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1.98 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% จากไตรมาสที่ 1/62 และเมื่อรับรู้การขาดทุนทางบัญชีอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.36 พันล้านบาท ลดลง 21.8% จากงวดปีก่อน

ขณะที่บริษัทมีเป้าหมายภายในปี 66 จะมีรายได้จากสกุลเงินบาท และรายได้สกุลต่างประเทศในสัดส่วนเท่ากันที่ 50% จากปัจจุบันที่มีรายได้สกุลเงินบาท 82.5% และสกุลต่างประเทศ 17.5%

นายกิจจา กล่าวว่า สำหรับประเด็นความเสี่ยงของผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในส่วนการมองหาโครงการใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติมไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่ในลาวอาจมีปัญหาเรื่องภัยแล้งบ้างทำให้กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าจากโครงการพลังงานน้ำ น้ำงึม 2 ที่เริ่มลดลงบ้างตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ปัญหาเรื่องภัยแล้งในประเทศไม่ได้รับผลกระทบเพราะโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ในภาคตะวันตกที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top