TOP คาด Q2/63 มีกำไรจากสต็อกน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบฟื้น-ค่าการกลั่นปรับตัวดีขึ้น

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กล่าวว่า บริษัทฯ คาดไตรมาส 2/63 จะกลับมามีกำไรจากการสต็อกน้ำมัน (Stock Gain) จากไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน (Stock Loss) อยู่ที่ 12.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือ 10,772 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบในช่วงปลายไตรมาส 2/63 เป็นต้นไปน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายรวมถึงกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดได้ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ปรับลดกำลังการผลิตลงราว 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ลดความกังวลลงได้บ้าง

ทั้งนี้ คาดค่าการกลั่น (GRM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกในไตรมาส 2/63 ฟื้นตัวขึ้น จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 0.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังซาอุดีอาระเบียและตะวันออกกลางออกมาลดราคาน้ำมันให้ถูกกว่าราคาตลาด หรือราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่งผลทำให้ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในภูมิภาครวมถึง TOP ได้ประโยชน์จาก Crude OSP ที่ถูกกว่าน้ำมันดิบดูไบ โดยบริษัทฯ มีการใช้น้ำมันดิบจากตะวันออกกลางถึง 70% ทำให้คาดว่าจะส่งผลดีต่อต้นทุนปรับตัวลดลงราว 4-5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ขณะที่มองความต้องการใช้น้ำมันทั้งปี 63 น่าจะปรับตัวลดลง 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.63 จะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำมันน้อยที่สุด คาดจะลดลงราว 20-25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งทำให้อาจเห็นสต็อกน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้น และส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน โดยความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (JET) น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากความกังวลต่อการเดินทาง ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบไปจนถึงปลายปีนี้

แต่อย่างไรก็ตามคาดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน และดีเซลน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้สต็อกน้ำมันทั่วโลกปรับตัวลดลง และส่งผลดีต่อราคาน้ำมัน หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบ ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 34 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 64 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวลดลง แต่ซัพพลายยังคงล้นตลาด

นอกจากนี้ธุรกิจผลิตสารอะโรเมติกส์ คาดว่าในไตรมาส 2/63 จะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 จากการผลิตของโรงกลั่นที่ปรับลดลง เป็นผลบวกต่อฝั่งอุปทานของตลาดผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) แต่แนวโน้มในครึ่งปีหลังนี้โรงกลั่นเริ่มกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น และมีซัพพลายของตลาด PX และเบนซิน เข้ามา ทำให้มีโอกาสอ่อนตัวลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก

ส่วนธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ในครึ่งปีหลังนี้คาดอ่อนตัวลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงของโลว์ซีซั่นของธุรกิจ ที่จะมีความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นลดลงในช่วงฤดูฝน ประกอบกับยางมะตอยก็จะมีความต้องการใช้น้อยลงเช่นกัน

นายณัฐพล กล่าวว่ว สำหรับธุรกิจอื่นๆ อย่างธุรกิจไฟฟ้า คาดว่าจะเป็นธุรกิจที่ยังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจผลิตเอทานอล และแอลกอฮอล์ ก็ยังมีความความต้องการสูง คาดจะสามารถทำกำไรได้มากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ก็มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top