In Focus: เกาะติดสถานการณ์จีน-สหรัฐ หลังวิกฤตโควิด-19 สั่นคลอนความสัมพันธ์สองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

ความสัมพันธ์ของคนเคยรักกันฉันท์มิตรระหว่างจีนและสหรัฐได้กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลักอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปรยกับผู้สื่อข่าวของฟ็อกซ์ บิสิเนส เน็ตเวิร์ค เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ผมไม่อยากคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในช่วงนี้ เพราะไม่อยากให้ความสัมพันธ์ของเราขาดสะบั้นลง อย่าให้ผมต้องคุยกับประธานาธิบดีสีตอนนี้เลย ไม่อย่างนั้นคงได้มีการตัดความสัมพันธ์กันแน่”

คำพูดของทรัมป์สะท้อนถึง inner ที่เต็มไปด้วยความหงุดหงิดใจ โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทรัมป์ปักใจเชื่อว่า ไวรัสมรณะสายพันธุ์ใหม่นี้หลุดออกมาจากห้องทดลองแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่นของจีน และจีนไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอย่างเพียงพอในการป้องกัน จนทำให้ไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเดินหน้านโยบายขายฝันที่ทรัมป์ได้รับปากไว้กับชาวอเมริกันว่า เขาจะทำให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หากเขาได้นั่งเก้าอี้ผู้นำสมัยที่ 2 ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพ.ย.ปีนี้

Blame Game – ศึกไวรัสครั้งนี้ ต้องมีผู้รับผิดชอบ

คนทั้งโลกต่างก็รู้ว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐและจีนไม่ได้อยู่ในสถานะของมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร โดยมักเป็นไปแบบ “รักๆเลิกๆ” ไม่ต่างจากคู่รักวัยรุ่น … หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่สี จิ้นผิง เดินทางเยือนสหรัฐในเดือนเม.ย. ปี 2560 นั้น ทรัมป์เปิดรีสอร์ท Mar-a-Lago ในเมืองปาล์มบีช รัฐฟลอริดา ให้การต้อนรับสี จิ้นผิง อย่างสมเกียรติ แต่สิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึงก็คือ ในระหว่างการเยือนสหรัฐของสี จิ้นผิงนั้น ทรัมป์ได้แสดงแสนยานุภาพโชว์แขกต่างแดน ด้วยการสั่งยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์คกว่า 50 ลูกถล่มใส่ซีเรีย ด้วยข้ออ้างแบบตำรวจโลกที่ว่า สหรัฐมีข้อมูลชัดเจนว่าผู้นำซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีร้ายแรงโจมตีกลุ่มกบฏในจังหวังอิดลิบทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในซีเรียเสียชีวิตจำนวนมาก … การโชว์แขกของทรัมป์ในครั้งนั้น กลับกลายเป็นการ “เรียกแขก” เพราะเหล่านักวิจารณ์ทั่วโลกได้ออกมาแสดงความไม่พอใจทรัมป์อย่างรุนแรง ขณะผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงขนาดตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์สั่งยิงขีปนาวุธถล่มซีเรีย เพื่อต้องการข่มขวัญสี จิ้นผิงทางอ้อม และอาจหวังผลถึงขั้นกดดันให้จีนไม่กล้าต่อกรกับสหรัฐในเรื่องการค้า โดยทรัมป์เองก็ลืมไปว่า จีนไม่ใช่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังไม่เป็นรองใครในเรื่องแสนยานุภาพด้านอาวุธ

กระทั่งเมื่อไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดในช่วงปลายปี 2562 โดยมีต้นตอมาจากเมืองอู่ฮั่นของจีน และกินเวลายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับจนถึงขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อไปแล้วถึง 4,955,684 รายทั่วโลก และเสียชีวิต 323,188 ราย ขณะที่สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกถึง 1,560,725 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลกที่ 92,689 ราย ตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตประชาชน และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทำให้คะแนนนิยมของทรัมป์หล่นวูบ และยิ่งใกล้ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐด้วยแล้ว ทรัมป์ยิ่งต้องเร่งหาทางกู้คืนความนิยมให้กลับคืนมา และหนึ่งในทางเลือกดังกล่าว คือการหาผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้

ทรัมป์เปิดศึกกล่าวโทษจีนในฐานะต้นตอการแพร่ระบาด เริ่มต้นด้วยการใช้วาทะกรรมเรียกชื่อไวรัสชนิดนี้ว่า “ไวรัสจีน” แทนที่จะเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ไวรัสโควิด-19” ตามแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และจากนั้นได้ออกโรงถล่มจีนแบบไม่ยั้งปากผ่านทั้งทางทวิตเตอร์และการแถลงด้วยตัวเองกับสื่อมวลชน ด้วยการโหมทฤษฎีที่ว่า ไวรัสโควิด-19 มีต้นตอมาจากห้องแล็บแห่งหนึ่งของจีน และพยายามดึงเรื่องนี้ไปเกี่ยวโยงกับข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศ โดยทรัมป์ขู่ว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน เพื่อเป็นการลงโทษที่จีนขาดความรับผิดชอบในการทำให้เกิดโรคระบาดในครั้งนี้ หลังจากที่เขาได้เห็นหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า โควิด-19 มีต้นกำเนิดจากสถาบันระบาดวิทยาในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองต้นตอที่ตรวจพบไวรัสดังกล่าวเป็นครั้งแรกในปลายปีที่ผ่านมา

“ผลประโยชน์ที่สหรัฐได้รับจากการทำข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกกับจีน ดูด้อยค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่สหรัฐได้รับจาก ‘โรคร้ายที่มาจากจีน’ … อย่างที่ผมได้พูดนานมาแล้วว่า การติดต่อเจรจากับจีนถือเป็นเรื่องที่มีราคาแพง โดยเราเพิ่งลงนามทำข้อตกลงการค้าที่ยิ่งใหญ่ แต่ในขณะที่หมึกยังไม่ทันจะแห้งนั้น โลกก็ถูกกระทบด้วยโรคร้ายจากจีน ต่อให้เราทำข้อตกลงได้ 100 ฉบับ ก็ไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งผู้ที่ต้องเสียชีวิตอีกจำนวนมาก” ทรัมป์ระเบิดคำพูดอย่างหัวเสียผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อไม่นานมานี้ว่า จีนต้องการเห็นเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย. และต้องการให้คู่แข่งอย่างนายโจ ไบเดน คว้าชัยชนะแทน เพื่อหวังลดแรงกดดันจากนโยบายการค้าของสหรัฐ

WHO – เหยื่อรายใหม่ในสงครามไวรัส

ใครจะคาดคิดว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องกลายเป็นหนังหน้าไฟในศึก Blame Game ระหว่างสหรัฐและจีนในครั้งนี้ ยิ่งเมื่อ WHO ได้ออกมายืนยันว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไวรัสโควิด-19 ถูกสร้างขึ้นในห้องทดลองของจีน แต่มีแหล่งกำเนิดจากค้างคาวในจีนซึ่งทำให้ไวรัสอุบัติขึ้นในปลายปีที่แล้ว ทรัมป์ก็ยิ่งออกอาการเดือดดาล ด้วยการลุกขึ้นทวีตข้อความโจมตีเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า WHO ให้ความสนใจกับจีนมากเกินไป และยังให้คำแนะนำที่ผิดพลาดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

การทวีตโจมตีในวันนั้นยังไม่ทำให้ความขุ่นมัวของทรัมป์บรรเทาลงได้ โดยรุ่งเช้าของวันพุธที่ 15 เม.ย. ทรัมป์ได้สั่งระงับการให้เงินสนับสนุน WHO เป็นการชั่วคราว ด้วยการตั้ง 3 ข้อกล่าวหาคือ WHO ล้มเหลวในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19, เข้าข้างจีนมากเกินไป และต่อต้านมาตรการสั่งห้ามการเดินทางเข้าสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐบังคับใช้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงที่โควิด-19 เริ่มมีการแพร่ระบาด

กระทั่งเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมานี้ สี จิ้นผิง ได้ปรากฎตัวในการประชุมประจำปีผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของ WHO โดยกล่าวยืนยันว่า จีนมีความโปร่งใส เปิดกว้าง และมีความรับผิดชอบในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ จีนยังได้ให้ข้อมูลแก่ WHO และประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างทันเวลา ซึ่งรวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ในเวลาที่รวดเร็ว”

หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมของ WHO เสร็จสิ้นลง สี จิ้นผิง ได้โชว์ความป๋าตัดหน้าทรัมป์ ด้วยการประกาศอัดฉีดเงินให้ WHO จำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนงานด้านการควบคุมโควิด-19 และยังประกาศด้วยว่า จีนจะนำวัคซีนต้านโควิด-19 ที่จีนผลิตได้เองไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาด

และหลังการกล่าวสุนทรพจน์ของสี จิ้นผิงจบลงไม่นาน ทรัมป์ก็ได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งใหม่ด้วยการขู่ตัดเงินสนับสนุน WHO เป็นการถาวร และเตือนว่าอาจจะถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกถาวรของ WHO ด้วย

ทรัมป์ได้แชร์จดหมายที่เขาส่งถึงนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า คณะทำงานของรัฐบาลสหรัฐได้ทำการทบทวนแนวทางของ WHO ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วเห็นว่า การทำงานของ WHO ได้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลสหรัฐ และทางทำเนียบขาวได้รับรู้ถึงความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าของ WHO และของนายแพทย์กีบรีเยซุส

ทั้งนี้ เนื้อหาของจดหมายระบุว่า สหรัฐจะระงับการสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับ WHO เป็นการถาวร และกำลังพิจารณาที่จะถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกถาวรของ WHO ด้วย นอกเสียจากว่า WHO จะให้คำมั่นว่า จะดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อแก้ไขคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า WHO พยายามให้จีนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับเรียกร้องให้ WHO ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานครั้งใหญ่ภายใน 30 วันข้างหน้านี้

หัวเว่ย – หมากสำคัญที่ถูกใช้เป็นเครื่องมืออีกครั้งในสมรภูมิความขัดแย้ง

ชื่อของหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ได้ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานี้ เมื่อนายหู สีจิน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทมส์ของรัฐบาลจีน ระบุว่า จีนเตรียมตอบโต้บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ หากสหรัฐยังคงใช้มาตรการกีดกันหัวเว่ย โดยจีนจะทำการสอบสวนบริษัทสหรัฐ ซึ่งรวมถึงควอลคอมม์, ซิสโก ซิสเต็มส์ และแอปเปิล

“เท่าที่ผมรู้ หากสหรัฐยังคงสกัดไม่ให้หัวเว่ยเข้าซื้อสินค้าด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ จีนก็จะสอบสวนบริษัทควอลคอมม์, ซิสโก และแอปเปิลตามรายชื่อใน “unreliable entity list” รวมทั้งระงับการซื้อเครื่องบินจากโบอิ้ง”

นายหูกล่าวผ่านทวิตเตอร์

ทั้งนี้ นักลงทุนจำนวนมากในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต่างก็ติดตามทวิตเตอร์ของนายหู เพื่อรับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

และข่าวลือก็เป็นจริง เมื่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ในวันที่ 15 พ.ค. โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นการส่งมอบเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกให้กับบริษัทหัวเว่ย และเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อหัวเว่ยซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำอยู่แล้วเนื่องจากเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า กฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะจำกัดขีดความสามารถของหัวเว่ยในการใช้เทคโนโลยี และซอฟท์แวร์ของสหรัฐ เพื่อการออกแบบ และผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของหัวเว่ยในต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติที่ใช้อุปกรณ์ผลิตชิปของสหรัฐจะต้องขอใบอนุญาตจากสหรัฐ ก่อนที่จะทำการส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับหัวเว่ย

คณะทำงานของทรัมป์มองว่า หัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5G นั้น เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ โดยเชื่อว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจถูกใช้เพื่อทำการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์

ขณะที่หัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยล่าสุด นายริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำกลุ่มธุรกิจ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสิเนส กรุ๊ป เปิดเผยผ่านทางวีแชทว่า การที่รัฐบาลสหรัฐสั่งบริษัททั่วโลกแบนการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปให้กับหัวเว่ยนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้สหรัฐครองอำนาจด้านเทคโนโลยีของโลกต่อไป ไม่ได้มีเหตุผลด้านความมั่นคงอย่างที่กล่าวอ้าง

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาว่า “Trade War Second Wave” จะเกิดขึ้นหรือไม่ เค้าลางของสงครามการค้าระลอกสองเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นบ้างแล้ว หลังจากสหรัฐขู่เก็บภาษีสินค้าจีน ขณะที่จีนประกาศความพร้อมตอบโต้ทันทีหากสหรัฐลงมือ ซึ่งกระแสความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวได้ปกคลุมบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้

อย่างไรก็ดี นายแลร์รี่ คุดโลว์ หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า ข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีการลงนามในเดือนม.ค.จะไม่มีวันถูกยกเลิก และขณะนี้ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงเจรจาการค้ากันต่อไป โดยนายคุดโลว์กล่าวว่า ข้อตกลงทางการค้ายังคงมีผลบังคับใช้ แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ที่จะตัดความสัมพันธ์กับจีน และโจมตีจีนว่าไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอในการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top