PwC ชี้ผลสำรวจรายงานทุจริตลดลงจาก 2 ปีก่อน เหตุมีวิธีซับซ้อนแยบยลมากขึ้น

นาย ชิน ฮอนมา หุ้นส่วนสายงาน Forensic Services บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึง ผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริตในประเทศไทย ประจำปี 2563 หรือ ‘PwC’s Thailand Economic Crime and Fraud Survey 2020: Staying on top of a never-ending war’ ซึ่งบริษัทเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยในปีนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 286 ราย

ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศพบว่า 33% ของบริษัทในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ ลดลงจากผลการสำรวจเมื่อปี 2561 ที่ 48% ซึ่งหากพิจารณาตัวเลขอย่างผิวเผินอาจเห็นว่า นี่เป็นการพัฒนาในเชิงบวก แต่อีกนัยหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการที่ผู้กระทำการทุจริตได้มีการพัฒนาวิธีการทุจริตให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จนทำให้ตรวจพบได้ยากยิ่งขึ้น

“เราเชื่อว่า การรายงานเหตุการณ์ทุจริตในไทยที่สูงขึ้นเมื่อปี 2561 ชี้ให้เห็นถึงการที่องค์กรต่าง ๆ มีการลงทุนด้านแผนการตรวจสอบการทุจริต มีพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ และมีเทคโนโลยีที่จำเป็นในการตรวจจับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการตรวจพบการทุจริตมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการรายงานเหตุการณ์การทุจริตที่ลดลงในปีนี้ อาจทำให้เราตีความได้อีกนัยหนึ่งว่า ผู้กระทำการทุจริตกำลังชนะสงคราม โดยได้มีการพัฒนาวิธีการทุจริตที่แยบยลมากขึ้น และนำใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ทำให้การตรวจจับการทุจริตเป็นไปได้ยากขึ้น”

นาย ฮอนมา กล่าว

*ทุจริตยักยอกทรัพย์ส่งกระทบต่อบริษัทไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่า การยักยอกทรัพย์ (Asset misappropriation) ยังคงเป็นประเภทของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทไทยมากที่สุด ตามมาด้วยการทุจริตผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง การติดสินบน และการคอร์รัปชัน โดยบุคคลภายในองค์กร (Insiders) มีส่วนรับผิดต่อคดีการทุจริตถึง 59% ในบริษัทไทย เปรียบเทียบกับ 37% ของบริษัททั่วโลก ขณะที่อีก 18% ของคดี เกี่ยวข้องกับการสมรู้ร่วมคิดระหว่างบุคคลภายในและบุคคลภายนอก สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีคดีทุจริตจำนวนมากที่มีความซับซ้อนสูงและมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงยิ่งทำให้ยากต่อการตรวจจับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า 30% ของคดีการทุจริตที่ถูกตรวจพบ มาจากการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistleblowing) ขณะที่วิธีการอื่น ๆ เช่น การควบคุมความเสี่ยงจากการทุจริตทั่วไป (3%) และการตรวจสอบภายในและภายนอก (7%) เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า และน่าเป็นห่วงว่า น้อยกว่า 10% ของแผนการตรวจจับทุจริตขององค์กรไทย มีการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best practices) ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การมีคดีของการทุจริตที่ยังตรวจจับไม่ได้เป็นจำนวนมากและมีการรายงานน้อยกว่าความเป็นจริง

“วันนี้ องค์กรต้องเข้าใจและยอมรับว่า ความเสี่ยงจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ต่อไป และจะยิ่งถูกโจมตีได้ง่ายมากขึ้น จากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้ บริษัทจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประเมินการป้องกันการทุจริต และเตรียมความพร้อมที่จะตอบสนองต่อการทุจริต ผ่านการใช้มาตรการรับมือกับการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ”

นาย ฮอนมา หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจจับทุจริต นักบัญชีสืบสวน และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของ PwC ประเทศไทย กล่าว

ทั้งนี้ ผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริตของ PwC ยังพบว่า การขาดความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร และการสนับสนุนจากผู้บริหาร ถือเป็นอุปสรรคที่ปิดกั้นบริษัทไทยจากการนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาประยุกต์ใช้ในการต่อสู้กับการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยบริษัทหลายแห่งยอมรับว่า พวกเขาไม่มีแม้แต่แผนตรวจจับการทุจริตขั้นพื้นฐาน

นาย ฮอนมา เชื่อว่า สำหรับบริษัทไทย “คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณตกเป็นเหยื่อของการทุจริตหรือไม่ แต่คุณรู้ตัวหรือไม่ว่า การทุจริตส่งผลกระทบต่อองค์กรของคุณอย่างไร ในขณะที่การต่อสู้กับการทุจริต การคอร์รัปชัน และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น หากบริษัทยังมองข้ามสิ่งเหล่านี้ ก็อาจต้องเตรียมรับมือกับความเสียหายมูลค่ามหาศาล อย่างไรก็ดี ยังไม่สายเกินไปที่เราจะหันมาปฏิบัติตามขั้นตอนที่เหมาะสม เพื่อพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบผู้กระทำการทุจริต และพร้อมที่จะชนะสงคราม”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top