สภาพัฒน์ เปิดพิจารณาโครงการกรอบวงเงินฟื้นฟูศก. 4 แสนลบ. ก่อนเสนอครม. 7 ก.ค.นี้

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวชี้แจงแนวทางการเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาทว่า ได้วางไว้ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.ลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เน้นเรื่องเกษตรอัจฉริยะ (เกษตรแม่นยำ เกษตรแปลงใหญ่ การเกษตรที่มีมูลค่าสูง) เรื่องอุตสาหกรรมอาหาร Bioeconomy เรื่องท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ Hospitality Industry และเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2.ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน เน้นเรื่องเกษตรพอเพียง/ผสมผสาน สินค้าและบริการชุมชม โอทอป และท่องเที่ยวชุมชน

3.ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน สิ่งที่ทำได้ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค คือ โครงการไทยเที่ยวไทย เช่น มีแนวคิดที่จะออกแพ็คเก็จท่องเที่ยวที่เป็นส่วนลดให้กับนักท่องเที่ยวนำไปใช้จ่ายค่าห้องพัก และรัฐจะช่วยจ่ายส่วนต่างให้กับผู้ผประกอบการแทน เป็นต้น

4.สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต เน้นโครงการพื้นฐานระดับชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาดิจิทัล แฟลตฟอร์ม

จากงบประมาณจำนวนดังกล่าว กว่า 50% จะไปลงในโครงการตามแผนงานที่ 2 ที่เน้นให้เม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเพื่อรองรับกับนักศึกษาที่จบใหม่ด้วย ส่วนโครงการไทยเที่ยวไทยถือเป็นโครงการที่น่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไว และบางโครงการ เช่น ช้อปช่วยชาติ ก็มีข้อเสนอจากสมาคมค้าปลีก ซึ่งต้องดูถึงความเหมาะสมอีกครั้ง

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า จะเปิดให้มีการเสนอโครงการเข้ามาภายในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ และจากนั้นจะมีการประชุมหารือ ก่อนส่งให้สศช.พิจารณา และเสนอทางคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาจัดทำความเห็น ก่อนนำเสนอ ครม.ภายในวันที่ 7 ก.ค.นี้ และเริ่มจ่ายเงินไปยังโครงการต่างๆได้ภายในก.ค.นี้ ซึ่งต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการได้เสร็จภายในปีงบประมาณ 64

โดยลักษณะโครงการจะต้องมีลักษณะเป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ ต้องเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ เป็นโครงการเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินโครงการ หรือสร้างโอกาสในการประกอบธุรกิจเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) หรือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ, เป็นโครงการเพื่อลดรายจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินโครงการ, เป็นโครงการเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินโครงการ และเป็นโครงการเพื่อเพิ่มการจ้างงานหรือรักษาระดับการจ้างงานให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินโครงการ

“บทเรียนโควิดครั้งนี้ พอไม่มีรายได้นักท่องเที่ยวเข้ามา หลายกิจการปิดตัวลง ต้องสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับคนที่กลับภูมิลำเนา เน้นเศรษฐกิจฐานรากและชุมชม ซึ่ง 4 แสนล้านจะเน้นสร้างงานเพิ่มรายไดั สร้างอาชีพให้กับชุมชน”

นายทศพร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top