ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 3,045 คน (+3)
  • รักษาหายแล้ว 2,929 คน (+1)
  • ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 59 คน
  • เสียชีวิตสะสม 57 คน (+0)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย มาจาก State Quarantine ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสม 3,045 ราย จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วรวม 2,929 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 59 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงเดิมที่ 57 ราย

ผู้ป่วยรายแรก เป็นหญิง ไทย อายุ 51 ปี อาชีพพนักงานนวด เดินทางกลับจากรัสเซีย เมื่อวันที่ 12 พ.ค. และเข้าพัก State Quarantine ที่จ.ชลบุรี และตรวจพบเชื้อวันที่ 25 พ.ค. (ไม่มีอาการ)

ส่วนอีก 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 45 ปี กลับมาจากประเทศคูเวต วันที่ 24 พ.ค. และเข้าพัก State Quarantine ที่จ.สมุทรปราการ โดยทั้ง 2 รายมีอาการไอ ตรวจพบเชื้อเมื่อ 25 พ.ค.

โฆษก ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์ในภาพรวมว่า ในประเทศไทยขณะนี้พบว่ามีมากถึง 65 จังหวัด ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นติดต่อกันมาแล้ว 4 สัปดาห์ ขณะที่มี 10 จังหวัด ที่ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 1 คน และที่เหลือ เพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 1 คน

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 3 ซึ่งจะทำให้กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่บาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับปานกลาง-ระดับสูง จะได้รับการอนุญาตให้สามารถกลับมาเปิดกิจการได้ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ยังคงปฏิบัติตัวตามหลักพื้นฐาน 5 ข้ออย่างเคร่งครัด เพราะหากแม้สถานการณ์อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ถ้าทุกคนดูแลตัวเองอย่างดี ปฏิบัติตามหลักพื้นฐานอย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิดได้

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงการรับคนไทยตกค้างที่จะเดินทางกลับมาจากต่างประเทศว่า วันนี้จะมีคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 386 คน ซึ่งจะมาจากประเทศอิตาลี 37 คน, มาเลเซีย 149 คน, ญี่ปุ่น 35 คน และไต้หวัน 165 คน ส่วนวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค.) จะมีคนไทยเดินทางกลับมาทั้งหมด 401 คน โดยจะมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ 41 คน, แคนาดา 100 คน, อินโดนีเซีย 175 คน และฮ่องกง 85 คน ซึ่งทั้งหมดที่เดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยจะต้องเข้ารับการสังเกตอาการในสถานกักกันตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine)

ส่วนคนไทยที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบกนั้น โฆษก ศบค.ระบุว่า ขณะที่ยอดที่ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อแจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับเข้าประเทศนั้น ยังมีจำนวนสูงกว่าผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาจริง ดังนั้นในส่วนนี้จึงยังมีช่องว่างพอที่จะรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบกอีก ดังนั้นจึงขอให้คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับเข้าประเทศรีบมาลงทะเบียน เพื่อที่จะได้เดินทางกลับเข้าประเทศในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดภาคเรียน เพราะจะต้องคืนพื้นที่ในการใช้โรงเรียนบางแห่งเป็น Local Quarantine

“ตอนนี้ยังมีคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาน้อยกว่าที่ลงทะเบียนไว้ โดยเฉพาะทางมาเลเซีย ดังนั้นจึงยังมีโควต้าให้เดินทางกลับมาได้ เรายังมีพื้นที่ในการดูแล สามารถบริหารจัดการได้ในระดับ 350 คน/วัน ซึ่งถ้ารีบเข้ามาตอนนี้ จะได้จบงานเร็วขึ้น ก่อนที่จะต้องคืนพื้นที่ให้โรงเรียนต่างๆ เพื่อเตรียมรับเปิดเทอม” นพ.ทวีศิลป์ระบุ

อย่างไรก็ดี ยอดสะสมของผู้ที่เข้ามาอยู่ใน State Quarantine/Local Quarantine ตั้งแต่ 3 เม.ย. – 25 พ.ค.63 รวมทั้งสิ้น 26,095 คน ซึ่งในจำนวนนี้ตรวจพบว่าติดเชื้อ 108 คน โดยปัจจุบันยังเหลือผู้ที่รักษาตัวอยู่ใน รพ.อีก 27 คน ส่วนอีก 81 คน สามารถกลับบ้านได้แล้ว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงความคืบหน้าของร้านค้า/กิจการที่มาลงทะเบียนในแพลตฟอร์ม ไทยชนะ.com ว่า ล่าสุดมีการลงทะเบียนแล้วกว่า 111,000 ร้านค้า ขณะที่มียอดผู้ใช้งานสะสมกว่า 12.84 ล้านคน

โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งที่ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศมีจำนวนน้อยลงมากแล้วว่า การที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกนั้น เป็นเพราะกฎหมายฉบับนี้สามารถทำให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันจากทุกหน่วยงานได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการการควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งอาจมีความไม่สะดวกในการทำงานที่ต้องอาศัยการประสานงานกันกับหลายหน่วยงาน

“พ.ร.บ.โรคติดต่อ คงใช้บริหารจัดการไม่ได้ด้วยตัวของกฎหมายเพียงฉบับเดียว ในการที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันกับหลายส่วน นี่คือความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องมีการบูรณาการ เพราะโรคนี้เพิ่งเกิดขึ้น เป็นเรื่องใหม่ ต้องจัดการและควบคุมคนให้ดี ดังนั้นต้องมีการบูรณาการ รวมอำนาจเพื่อจัดการอย่างเบ็ดเสร็จในการควบคุมโรคให้ได้ จากเดิมที่ต่างคนต่างทำงานกันคนละกระทรวง” นพ.ทวีศิลป์ระบุ

พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ภาครัฐต้องเข้มข้น เอกชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องร่วมแรง เพื่อให้ประเทศไทยได้ไปต่อ จึงจะสามารถเอาชนะในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top