HPT หยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 1 มิ.ย.63 เป็นเวลา 30 วัน จากโควิดกระทบ

บมจ.โฮม พอตเทอรี่ (HPT) แจ้งว่า บริษัทประกาศหยุดการผลิตทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดค่อนข้างมากในกลุ่มประเทศลูกค้าของบริษัท ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มทวีปยุโรป และทวีปออสเตรเลีย ทำให้แผนการผลิตและการส่งมอบสินค้า ถูกชะลอ หรือเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ดังนั้น การหยุดการผลิตชั่วคราวครั้งนี้จะเป็นการลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 30 วัน หรือหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติเร็วกว่านั้น อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าบริษัทได้มีการบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าระหว่างที่หยุดสายงานผลิต

HPT เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเซรามิกประเภทไฟน์ไชน่า (Fine china) โดยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริษัทย่อย คือ บริษัท เซ็นทรัล ฮอสพิแทลลิที จำกัด ซึ่งทำธุรกิจบริการให้คำปรึกษา และจำหน่ายอุปกรณ์ครัวและเครื่องใช้ สำหรับธุรกิจบริการด้านอาหาร แบบครบวงจร โดยลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริการด้านอาหารในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจบริการด้านอาหารต่าง ๆ ในช่วงล็อกดาวน์ ถึงแม้จะยังคงมีการสั่งอาหารและจัดส่งตามบ้าน หรือสถานที่ต่าง ๆ หากแต่การเปิดดำเนินการของธุรกิจบริการด้านอาหารที่ไม่เป็นปกตินี้ ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์ครัว และเครื่องใช้ชะลอตามไปด้วย

จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าการรับรู้รายได้ของบริษัทและบริษัทย่อย ในช่วงไตรมาสที่ 2/63 มีแนวโน้มที่ลดลง ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถระดมทุนจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนได้สำเร็จตามแผนที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น อีกทั้งลูกค้าต่างประเทศบางรายขอขยายระยะเวลาชำระเงินออกไปอีกประมาณ 30 วันทำให้กระแสเงินสดเข้ามาช้าลงด้วย

ทั้งนี้ บริษัทได้เลือกแนวทางปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีแพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเลือกที่จะไม่นำข้อมูลที่มีการคาดการณ์ไปในอนาคต (forward-looking information) มาใช้ในการวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับวิธีการคำนวณอย่างง่าย สำหรับลูกหนี้การค้าและสินทรัพย์ตามสัญญา และเลือกที่จะไม่นำสถานการณ์โควิด-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้ของการด้อยค่า ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 36 เรื่องการด้อยค่าของสินทรัพย์

บริษัทไม่คิดว่ามูลค่าทรัพย์สินจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมื่อทำการวิเคราะห์อายุของลูกหนี้การค้าคงเหลือแล้ว ไม่พบลูกหนี้การค้ารายใดที่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามนโยายการบัญชีด้านการสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของบริษัท ส่วนทรัพย์สินอื่นไม่มีรายการใดที่จะเข้าข่ายการเสื่อมสภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top