‘วิรไท’ แจง พ.ร.ก.ที่ ธปท.เสนอ ไม่ใช่การกู้เงิน แต่ให้อำนาจจัดการสภาพคล่อง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารเห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงการออกพ.ร.ก. 2 ฉบับในส่วนของธปท.ที่มีการอภิปรายในสภาฯว่า ไม่ควรเรียกว่าพ.ร.ก.กู้เงิน เพราะหัวใจของ พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับคือการให้อำนาจ ธปท. เข้าไปบริหารจัดการสภาพคล่องได้ตรงจุด เพราะว่าเมื่อครบเวลา 2 ปี เงินที่ ธปท. ปล่อย soft loans ผ่านสถาบันการเงินไปให้ SMEs สถาบันการเงินก็ต้องเอากลับมาคืน ธปท.

ส่วนเงินที่ ธปท.จะลงทุนผ่านกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF เป็นการให้ bridge financing ชั่วคราว เมื่อครบกำหนดเอาเงินกลับมาคืน ธปท. (ธปท. ถึงต้องเน้นเรื่องคุณภาพของตราสารที่กองทุน BSF เข้าไปลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย)

https://www.facebook.com/veerathai.santiprabhob/posts/10220436068565928

ทั้งกลไกของ soft loans และกองทุน BSF ไม่ใช่การกู้เงิน 900,000 ล้านบาทมาใช้จ่าย หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ได้สร้างภาระการคลัง 900,000 ล้านบาท หรือไม่ได้สร้างภาระภาษี 900,000 ล้านบาทให้ลูกหลานเหมือนกับที่หลายท่านกังวล

นายวิรไท ระบุว่า ทั้ง 2 กลไกอาจจะสร้างภาระการคลังในอนาคตได้บ้าง ถ้าสินเชื่อ soft loans ที่ปล่อยให้ SMEs จำนวนมากเกิดกลายเป็นหนี้เสีย หรือตราสารหนี้ที่กองทุน BSF เข้าไปลงทุนไม่ได้รับชำระหนี้คืน ซึ่งตาม พ.ร.ก. แล้วรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้เพียงบางส่วนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ธปท. ตระหนักดีว่าทั้ง 2 กลไกที่ ธปท. เสนอไม่พึงสร้างภาระการคลังให้กับคนไทยในอนาคต จึงต้องมีเงื่อนไขด้านคุณภาพอย่างรัดกุมทั้งการปล่อยสินเชื่อผ่าน soft loans และการลงทุนผ่านกองทุน BSF

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 63)