แนะ 9 วิธีปลุกไฟในตัวคุณ แก้อาการ Burnout Syndrome

“ถ้าคุณกำลังเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ หมดแรง หมดพลัง ไร้แรงบันดาลใจ หรือที่มักพูดกันติดปากในยุคนี้ว่า ‘หมด Passion’ เรามาดูกันว่ามีวิธีอย่างไรที่จะเติมไฟ หรือเพิ่มพลังใจ แก้อาการภาวะหมดไฟ Burnout Syndrome”

เมื่อปี 2562 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้ Burnout Syndrome เป็นภาวะทางสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแลรักษา และเป็นภาวะที่กำลังจะเกิดในสังคมคนเมืองและคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งภาวะหมดไฟหรือหมดแรงบันดาลใจในการทำงานนี้ งานวิจัยของต่างประเทศระบุว่าอาจส่งผลให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในระยะยาว และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากต่อปี

วันนี้ภาวะหมดไฟจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงศึกษาพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ในภาวะหมดไฟ เสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ และผู้ที่มีพลังใจในการทำงานสูง ว่ากลุ่มผู้บริโภควัยทำงานเหล่านี้ทำกิจกรรมอะไร เพื่อที่จะคลายความเครียดที่กำลังเผชิญ หรือเพิ่มพลังใจที่หดหายให้กลับมาและสู้กับสถานการณ์ที่เจอ เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เผยผลข้อมูลงานวิจัยหัวข้อการตลาดเติมพลัง “BURNOUT IN THE CITY” พบว่า ผู้บริโภควัยทำงานในกรุงเทพฯ จำนวน 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือเบิร์นเอาท์ ซินโดรม (Burnout Syndrome) และมีจำนวนมากถึง 57% ที่อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ

จากการเก็บผลสำรวจผู้บริโภควัยทำงานในกรุงเทพมหานครในช่วงปลายปี 2562 จำนวน 1,280 คนโดยในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิง 66% ผู้ชาย 34% พบว่า 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน 57% อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ และมีจำนวนเพียง 31% เท่านั้นที่อยู่ในภาวะไฟแรง

กลุ่ม Gen Z อยู่ในภาวะหมดไฟมากที่สุด

เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของประชากรในกรุงเทพมหานคร มากกว่า 3.7 ล้านคน อยู่ในภาวะเครียดจนน่าเป็นห่วง จากจำนวนประชากรวัยทำงานในกรุงเทพทั้งหมดจำนวน 5.3 ล้านคน โดยผลสำรวจพบว่า ช่วงอายุที่น้อยลงกลับมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟได้มากกว่า โดยกลุ่ม Gen Z หรือช่วงอายุต่ำว่า 22 ปี กำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟมากที่สุดถึง 17% ขณะที่กลุ่ม Gen Y หรือช่วงอายุ 23 – 38 ปี ก็ตกอยู่ในสภาวะใกล้เคียงกันที่ 13% แต่กลับกันในกลุ่ม Baby boomer หรือช่วงอายุ อายุ 55 – 73 ปี กลับอยู่ในภาวะหมดไฟเพียง 7%

พนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่ภาวะหมดไฟ

โดยเมื่อดูตามกลุ่มอาชีพ พบว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจคือกลุ่มที่อยู่ในภาวะหมดไฟ และกำลังเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟมากเป็นอันดับแรกที่ 77% รองลงมาคือ พนักงานเอกชน 73% และข้าราชการที่ 58% และธุรกิจส่วนตัว 48%

3 สาเหตุหลักที่ทำให้หมดไฟ

  • งาน OVERLOAD: ภาระงานที่เยอะและไม่สมดุลกับปริมาณคนทำงาน
  • NO MODE สนับสนุน: ไม่ใช้เครื่องมือหรือระบบที่เหมาะสมทำให้ไม่สามารถลดเวลาและกระบวนการทำงานได้
  • โครงสร้างวุ่นๆ กับเจ้านายเย็นชา: หัวหน้างานที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่รับฟังความคิดเห็นรวมถึงโครงสร้างองค์กรที่ไม่มีความยืดหยุ่น

แนะกิจกรรมช่วยคลายความเครียดจากการทำงาน ช่วยเติมพลัง และแก้อาการหมดไฟ ได้แก่

  1. การใช้โซเชียลมีเดีย ในยุคที่ใครๆ ก็ต่างใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram และอื่นๆ อีกมากมาย ในการลดความเครียดติดตามสิ่งที่ตัวเองสนใจและเพลิดเพลินไปกับการท่องโลกออนไลน์ แต่ก็อย่าลืมว่าต้องไม่เสพติดการใช้โซเชียลมีเดียจนเกินไป เพราะจากที่จะช่วยให้คลายเครียด อาจจะทำให้เครียดกว่าเดิมได้
  2. การพูดคุยกับครอบครัว สถาบันครอบครัวเป็นพื้นฐานของสังคม ดังนั้น ทุกอย่างเริ่มต้นที่ครอบครัว การพูดคุยปรึกษาปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหาในการทำงาน ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้คุณลดความเครียดลงได้
  3. การพูดคุยกับเพื่อน เพื่อนที่ดีควรที่จะให้ปรึกษาได้ทุกเรื่อง หรือไม่อย่างน้อยก็สามารถรับฟังปัญหาของกันและกันได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดี การได้พูดคุยปัญหาในการทำงานกับเพื่อนที่มีอายุและประสบการณ์ใกล้เคียงกัน อาจจะทำให้เห็นแง่มุมที่เหมือนหรือแตกต่าง มีความเข้าอกเข้าใจในจุดเดียวกัน และคลายความเครียดไปได้
  4. การฟังเพลง เป็นอีกกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดได้ดี ความสุนทรีย์จะทำให้จิตใจสบาย
  5. การออกกำลังกาย บางครั้งการเสียเหงื่อหรือได้ใช้พลังงาน ก็สามารถลดความเครียดในเรื่องการทำงานได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังสร้างสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย
  6. การเล่นเกมส์ อีกกิจกรรมบันเทิงที่มีให้เลือกได้หลากหลายทั้งออนไลน์และอ็อฟไลน์ และหลากหลายชนิดเกมส์
  7. รับประทานอาหารที่อร่อย การกินเป็นอีกหนึ่งวิธีที่คลายเครียดได้ไม่เฉพาะเรื่องงานเท่านั้น เหมือนวลีที่ว่า “หมูกระทะจะเยียวยาทุกสิ่ง”
  8. การทำบุญ ตามความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธ การทำบุญจะช่วยให้จิตใจสงบและสบายใจ
  9. การชมภาพยนตร์ การดูหนังดีๆ สักเรื่องเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้คุณคลายเครียดจากงานได้ บางครั้งข้อคิดหรือมุมมองที่ได้จากหนัง อาจจะสร้างแรงบันดาลใจดีๆ ให้คุณก็ได้

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า กิจกรรมที่ผู้ชายเลือกใช้เพื่อคลายเครียด 3 ลำดับแรก คือ การเล่นเกมส์ การออกกำลังกาย และ การใช้โซเชียลมีเดีย

ขณะที่กิจกรรมที่ผู้หญิงเลือกทำเพื่อคลายเครียด 3 ลำดับแรก ได้แก่ การพูดคุยกับเพื่อน การใช้โซเชียลมีเดีย การพูดคุยกับครอบครัว และเมื่อแบ่งตามเจเนอเรชั่น กลุ่ม Baby Boomer เลือกที่จะออกกำลังกาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top