ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ 1 ราย กลับจากรัสเซีย

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 3,082 คน (+1)
    • เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 0 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศกักตัวใน State Quarantine = 1 ราย
  • รักษาหายแล้ว 2,965 คน (+2)
  • ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 60 คน (-1)
  • เสียชีวิตสะสม 57 คน (+0)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย จาก State Quarantine ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากรัสเซีย ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ

โดยผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,082 ราย ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 2 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 2,965 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 60 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงเดิมที่ 57 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ เป็นหญิงไทย อายุ 43 ปี เดินทางกลับมาจากรัสเซีย วันที่ 20 พ.ค. เข้าพักใน State Quarantine จ.ชลบุรี ตรวจครั้งแรก วันที่ 24 พ.ค. ไม่พบเชื้อ ต่อมาตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 31 พ.ค. พบเชื้อ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจ.ชลบุรี ไม่มีอาการ

“ขณะนี้นับได้ 7 วันแล้วที่พบการติดเชื้อเกิดขึ้นเฉพาะใน State Quarantine ไม่พบผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่าวางใจ เพราะอย่างน้อย จะต้องให้ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเลยอีก 2-3 สัปดาห์ ที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี เพราะผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 คนมา 7 วันแล้ว ซึ่งการเข้าสู่ช่วงผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 นี้ ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แม้จะมีการผ่อนคลาย แต่ความเสี่ยงของโรคยังคงมีอยู่ ดังนั้นมาตรการ 5 ข้อที่เป็นสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ”

โฆษก ศบค.ระบุ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เปิดให้มี State Quarantine จนถึงล่าสุดวันนี้ พบว่ามีผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 145 คน โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุเฉลี่ยที่ 39 ปี (ต่ำสุด 15 ปี สูงสุด 77 ปี) ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติไทย 98.62% รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ในอัตราเท่ากันที่ 0.69%

สำหรับเที่ยวบินที่จะนำคนไทยตกค้างเดินทางกลับเข้าประเทศในช่วงวันที่ 1-2 มิ.ย.นี้ แบ่งเป็น วันที่ 1 มิ.ย. รวม 355 คน โดย
เดินทางกลับจากรัสเซีย 50 คน, จากมาเลเซีย 93 คน และจากสหรัฐอเมริกา 212 คน ส่วนวันที่ 2 มิ.ย. อีก 450 คน โดยเดินทางกลับจากดูไบ 290 คน, จากญี่ปุ่น 110 คน และจากเกาหลีใต้ 50 คน ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเข้าไปสังเกตอาการอยู่ภายในสถานที่กักตัวของรัฐทุกคน

“ตอนนี้เราพยายามจะเพิ่มจำนวนของผู้ที่จะเข้ามาอยู่ใน State Quarantine ให้ได้เป็น 500 คน/วัน จากเดิมที่รับได้แค่ 200 คน/วัน และล่าสุดที่ 400 คน/วัน ทั้งนี้เพื่อจะจบงานให้ได้ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ และเป็นการช่วยเหลือให้คนไทยสามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยเร็วที่สุด”

นพ.ทวีศิลป์ระบุ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดให้มี State Quarantine เมื่อวันที่ 3 เม.ย.จนถึงล่าสุด 31 พ.ค.63 มียอดผู้ที่เข้ามาอยู่ใน State Quarantine แล้วรวมทั้งสิ้น 30,019 คน

โฆษก ศบค.ยังกล่าวถึงภาพรวมการใช้งานล่าสุดในแพลตฟอร์มไทยชนะว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.-31 พ.ค.63 พบว่ามียอดสะสมของร้านค้า/กิจการที่ลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 133,694 ร้านค้า มีจำนวนผู้ใช้งานสะสม 18.58 ล้านคน

นพ.ทวีศิลป์ ได้ชี้แจงถึงกรณีที่ในมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ยังไม่อนุญาตให้มีการนวดหรือทำสปาบริเวณใบหน้าได้ ในขณะที่อนุญาตให้คลินิกเวชกรรมสามารถให้บริการกับใบหน้าได้ว่า ทางศบค.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าวิธีการให้บริการของคลินิกเวชกรรมจะมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้เกิดความมั่นใจถึงความปลอดภัยที่มากกว่าร้านนวด หรือร้านสปาทั่วไปที่อาจจะมีความเสี่ยงในการให้บริการมากกว่า ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้จากที่มีการพบเชื้อโควิดจากคนไทยที่ประกอบอาชีพนวดในต่างประเทศหลายคน

“การนวดอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่า หลายคนที่ทำงานนวดในต่างประเทศ กลับมาแล้วพบว่าติดเชื้อ เราเป็นห่วงในจุดนี้ ที่ยังไม่อนุญาตให้ทำได้ก็เพื่อต้องการดูแลความปลอดภัย และต้องการควบคุมโรค ซึ่งถ้าจะทำก็อาจจะมีความเสี่ยง ดังนั้นตอนนี้ก็อย่าเพิ่งทำเลย”

โฆษก ศบค.ระบุ

ส่วนแนวโน้มของการที่รัฐบาลจะชดเชยวันหยุดช่วงสงกรานต์ให้ในเดือนก.ค. เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวและการเดินทางกลับภูมิลำเนาได้หรือไม่นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คงต้องขึ้นอยู่กับผลที่เกิดขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

แต่จากที่ได้รับทราบข้อมูลในปัจจุบัน พบว่าเริ่มพบเห็นประชาชนบางคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดสถานที่น้อยลง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดทั้งการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อได้ไม่เฉพาะกับโรคโควิดเท่านั้น แต่หมายรวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ตามฤดูกาลด้วย เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ดังนั้นประชาชนทุกคนยังต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิบัติตัวตามมาตรฐานสุขอนามัย 5 ข้ออย่างสม่ำเสมอ คือ ล้างมือ, ใส่หน้ากากอนามัย, เว้นระยะห่าง, ทำความสะอาดสถานที่ และอย่าให้มีความแออัด ซึ่งการที่จะประกาศชดเชยวันหยุดช่วงสงกรานต์ได้หรือไม่คงต้องให้สถานการณ์ในระยะที่ 3 และ 4 นี้ผ่านไปได้ด้วยดีก่อน

“การหยุดชดเชยวันสงกรานต์ในเดือนก.ค.นี้ ก็อาจจะเกิดขึ้น ถ้าเราผ่านช่วงเดือนมิ.ย.นี้ไปได้ด้วยดี…ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก แค่ 5 ข้อนี้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ เพื่อที่เราจะได้เข้าสู่การผ่อนคลายระยะ 3 และระยะ 4 หลังจากนั้นจะได้มีวิถีชีวิตได้อย่างปกติ”

โฆษก ศบค.ระบุ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้ที่ไม่เจอผู้ติดเชื้อในประเทศ พูดได้ว่า สามารถควบคุมได้แต่ยังไม่สามารถกำจัดโรคได้ ดังนั้น ตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวัง โดยหากมองไปข้างหน้าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรขึ้นกับทุกคนช่วยกันดูแล ถ้ามีการป้องกันคงมีผู้ป่วยในระดับต่ำต่อไป แต่หากพลาด โอกาสที่จะเจอสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นได้

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า วันนี้มาตรการภาคบังคับได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 3 แล้ว แต่มาตรการอื่นยังต้องเข้มแข็ง ประกอบด้วยมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งการป้องกัน มาตรการควบคุม มาตรการค้นหา มาตรการป้องกัน ที่กระทรวงสาธารณสุขตระหนักและพยายามอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่ทำให้มีปัญหาทางเศรษฐกิจ, มาตรการระดับบุคคล ที่เป็นเรื่องพฤติกรรมสุขภาพอนามัยที่ควรมี และมาตรการระดับองค์กร การทำงานที่บ้าน การเหลื่อมเวลา การปรับระบบระบายอากาศ การคัดกรอง การประชุมทางไกล

สำหรับกรณีหากผ่อนคลายแล้วพบสถานประกอบกิจการไม่ปฎิบัติตามมาตรการคงไม่เป็นการปิดทั้งประเทศ แต่คงปิดในจังหวัดที่มีเหตุสงสัย โดยเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัด โดยอาจจะเป็นการปิดสถานที่ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อก่อน หากมีการแพร่ระบาดจะปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยง

“ต้องทำ 2 อย่าง คือ ปิดสถานที่เสี่ยงในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด รวมถึงการจำกัดการเดินทางด้วย”

ด้านนพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 อนุญาตให้ดำเนินกิจการ/กิจกรรมบางส่วนเพิ่มเติม เช่น ขยายเวลาการจำกัดเวลาเข้า-ออกเคหะสถาน เป็น 23.00 น. ถึง 03.00 น. ขยายเวลาการปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุมเป็น 21.00 น. ผ่อนปรนข้อกำหนดกิจการเสริมความงาม สนามกีฬา รวมถึงอนุญาตให้เปิดกิจการบางประเภท อาทิ สวนสัตว์ โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส สปา นวดแผนไทย เป็นต้น ซึ่งการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรม จะทำให้มีผู้เข้าใช้บริการและเกิดการรวมตัวของคนมากขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่และสัมผัสเชื้อได้

ดังนั้น ขอให้สถานประกอบการเข้มงวดมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ อาทิ การวัดไข้คัดกรองทุกคนที่เข้าพื้นที่ และให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า จัดทางเข้าออกทางเดียว จัดตั้งจุดวางแอลกอฮอล์เจลล้างมือ จัดพื้นที่ให้บริการโดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร จำกัดจำนวนคนและระยะเวลาการรับบริการแต่ละครั้ง มีการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ราวบันได ราวจับ ปุ่มกดลิฟต์ ห้องน้ำ ก๊อกน้ำ โต๊ะ ทุก 2 ชั่วโมง เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

สำหรับผู้เข้ารับบริการขอให้คิดถึงสุขภาพและความปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของสถานที่อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญคือการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เว้นระยะระหว่างผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ

แม้ว่าสถานการณ์ของประเทศขณะนี้จะดีขึ้นแล้ว โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ ส่วนผู้ติดเชื้อภายในประเทศมีจำนวนลดลง และไม่มีรายงานต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน อาจทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความชะล่าใจละเลยการสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อได้

ดังนั้น ขอให้ประชาชนช่วยกันสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าต่อไปและทำให้เป็นนิสัย ร่วมกับการล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่น จะเป็นการสร้างเกราะป้องกันตัวเอง ลดการแพร่และสัมผัสเชื้อโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top