GPSC ตั้งเป้า 5 ปีเพิ่มกำลังผลิตใหม่ 1,500 MW เล็งออกหุ้นกู้ปีนี้ 5 พันลบ.

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 63-67) จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟฟ้าในมือแล้ว 5,026 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งวางเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 30% จาก 11% ของพอร์ตในขณะนี้

การเติบโตของบริษัทในอนาคตจะเป็นการเติบโตไปพร้อมกับกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ โครงการ Gas to Power พื้นที่มาบตาพุด และเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ,โครงการโรงไฟฟ้าประเภท Conventional ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งในส่วนพลังงานลมและแสงอาทิตย์ทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับกำลังผลิตที่มีในมือและอยู่ระหว่างพัฒนา ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย (NNEG Expansion) กำลังการผลิตตามสัดส่วน 18 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีนี้ และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ มีแผนจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไตรมาส 2/64 โครงการโรงไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU) โดยนำกากน้ำมันที่เหลือจากกระบวนการกลั่นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 66

นอกจากนี้ บริษัทยังมีกลยุทธ์การลงทุนด้านนวัตกรรม ทั้งด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System:ESS) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid ซึ่งพยายามเร่งให้เสร็จในปลายปี 63 เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทได้ร่วมกับ ปตท.และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จัดทำชุมชนต้นแบบอนาคต ในรูปแบบของเทคโนโลยีนวัตกรรม บนพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ใน3 ด้าน ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างมีเสถียรภาพ การนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และ Artificial Intelligence Technology ในการบริหารจัดการพลังงาน

นายชวลิต กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้าวงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่รองรับการลงทุนใหม่ทั้งการหากำลังผลิตใหม่ตามแผน 1,500 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 7 โรง กำลังการผลิตรวมประมาณ 600 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป โดยในปีนี้จะใช้เงินลงทุนราว 1.2 หมื่นล้านบาท รองรับการผลิตไฟฟ้าในมือที่มีปัจจุบันและการเข้าซื้อโซลาร์ฟาร์มในประเทศราว 40 เมกะวัตต์เมื่อเร็ว ๆ นี้

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวบริษัทจะให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดเป็นสำคัญ และจะบริหารจัดการเพื่อรองรับแผนลงทุนและการเติบโตอย่างระมัดระวังภายใต้ภาวะความปกติใหม่ (new normal)

นายชวลิต เปิดเผยอีกว่า ล่าสุด ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันนี้อนุมัติการออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปี (ปี 63-67) เพื่องรองรับการลงทุนตามแผนกลยุทธ์ และใช้รองรับการบริหารกระแสเงินสดให้มีความเหมาะสม ส่วนจะออกหุ้นกู้ในวงเงินดังกล่าวเมื่อใดขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้และภาวะตลาดที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ 5 พันล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 เพื่อรองรับการลงทุนที่ได้เข้าซื้อโซลาร์ฟาร์มราว 40 เมกะวัตต์มาแล้ว โดยหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top