เงินบาทเปิด 31.50 ต่อดอลล์ หลังดอลลาร์แข็งขานรับตัวเลขศก.สหรัฐดีเกินคาด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 31.44 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ไว้

“บาทอ่อนค่าจากเย็นวันศุกร์ หลังตัวเลข non-farm ออกมาดีกว่าคาด” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 31.45-31.60 บาท/ดอลลาร์ ต้องจับตาดูทิศทางเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาในตลาดหุ้นและพันธบัตร และการซื้อดอลลาร์เพื่อไปลงทุนในทองคำหลังราคาปรับตัวลดลงมามาก

THAI BAHT FIX 3M (5 มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.48752% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.64673%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ 109.49 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 109.23/26 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.1296 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1317/1321 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.5010 บาท/ดอลลาร์
  • ธนาคารกสิกรไทย รายงานว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 มิถุนายน 2563) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง ใกล้ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่น ประกอบกับแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย ของนักลงทุนต่างชาติ โดยวันที่ 5 มิถุนายน เงินบาท อยู่ที่ระดับ 31.46 เทียบกับระดับ 31.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2563
  • ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) สรท. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ สรท. ได้เข้าหารือกับคณะผู้บริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสถานการณ์ส่งออกรายอุตสาหกรรม และ โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เพื่อให้ ธปท. สามารถกำหนดนโยบายด้านการเงินเพื่อสนับสนุน ภาคการค้าระหว่างประเทศ
  • รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะทำงานซีพีทีพีพี ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้รวบรวมผลการศึกษาผลกระทบต่อการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอให้ กกร. ประกาศจุดยืนว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมเจรจาหรือไม่ในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นตัวแทนจากภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมยังกังวลใน 4 ประเด็นใหญ่ที่ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องสร้างความชัดเจนและชี้แจงให้ทุกฝ่ายได้
    รับทราบข้อเท็จจริง
  • รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้เห็นชอบแนวทางให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปรับลดการนำส่งเงินฝากเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐ (เอสเอฟไอเอฟ) ลงครึ่งหนึ่งจาก 0.25% ของยอดเงินฝาก เหลือ 0.125% ตามที่ได้รับข้อเสนอมา และจะมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ธนาคารรัฐสามารถนำส่วนต่างของเงินนำส่งที่ลดลง มาใช้พยุงดอกเบี้ยเงินฝากให้อยู่ในระดับสูงดูแลประชาชน และส่งเสริมให้มีการออมมากขึ้น
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเห็นตรงกันที่จะใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศหลังจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยวและบริโภคในประเทศ โดยจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มมาตรการคือ ช่วงเดือน ก.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากหลายมาตรการรัฐที่ได้ออกไป ทั้งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน และการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท จะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะประกาศให้มีวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ในช่วงเดือน ก.ค.นี้
  • การท่องเที่ยวฯ นัดถกบริษัททัวร์รายใหญ่ โรงแรม และสายการบิน ไฟเขียวเปลี่ยนค่าทัวร์-โรงแรม-ตั๋วบิน ที่จองไปต่างประเทศแล้วไปไม่ได้เพราะโควิด มาใช้บริการเที่ยวในประเทศได้แทน หวังกระตุ้นไทยเที่ยวไทยช่วงครึ่งปีหลัง เผยต้องรีบออกมาตรการเพราะญี่ปุ่นเตรียมเปิดรับคนไทยไปเที่ยวได้แล้ว
  • “แบงก์พาณิชย์” ยอมรับแนวโน้ม “หนี้เสีย” กลุ่มสินเชื่อบ้านยังเพิ่มต่อเนื่อง ผลจากพิษโควิดฉุดเศรษฐกิจชะลอ “ไทยพาณิชย์” ย้ำยังผนึกผู้ประกอบการอัดแคมเปญระบายสต็อก แต่ยอมรับระวังปล่อยกู้ ด้าน “กสิกรไทย” เผยระวังปล่อยกู้ในทุกกลุ่ม หลังโควิดป่วนเศรษฐกิจกระทบความมั่นคงรายได้ ขณะ “ทีเอ็มบี” ชี้แนวโน้มหนี้เสียสินเชื่อบ้านยังพุ่งไม่หยุด คาดสิ้นปีเฉียด 5% ทะลุระดับ 1.1 แสนล้าน
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 โดยระบุว่า GDP ไตรมาส 1/2563 หดตัวลง 2.2% จากไตรมาส 4/2562 ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณเบื้องต้นที่ระบุว่า GDP ไตรมาส 1/2563 หดตัวลง 3.4%
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐซึ่งระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 2.5 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค. สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ว่าการจ้างงานอาจลดลง 8.33 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 13.3% ในเดือนพ.ค. สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ว่าอาจพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.5% การพุ่งขึ้นของตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนพ.ค. ถือเป็นการทำสถิติจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดภายในเดือนเดียวในประวัติศาสตร์สหรัฐรอบ 81 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2482
  • นักลงทุนจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 9-10 มิ.ย.นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ
  • ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตดัชนีราคาสินค้านำเข้า/ส่งออกเดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ท่าทีระหว่างสหรัฐฯ-จีน และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีกด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 63)

Tags: , ,
Back to Top