OECD ชี้โควิด-19 ทำเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงสุดในรอบเกือบ 100 ปี

องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุในรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี และหนทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอน รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบสอง

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า OECD มองว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะมีการผลิตวัคซีนที่ใช้ได้ในวงกว้างภายในปีนี้ และยังมีความไม่แน่นอนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น OECD จึงประเมินสถานการณ์โดยแยกเป็น 2 กรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้พอๆ กัน โดยกรณีแรกคือการแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และอีกกรณีคือ โรคโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสองทั่วโลกก่อนสิ้นปี 2563

หากเกิดการแพร่ระบาดรอบสองจนทำให้ประเทศต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง OECD ก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะร่วงลง 7.6% ในปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น 2.8% ในปีหน้า และในกรณีที่รุนแรงที่สุดนั้น อัตราว่างงานในประเทศกลุ่ม OECD จะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด และการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยในปีหน้า

ในกรณีที่ไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบสองนั้น OECD คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวลง 6% ในปีนี้ ขณะที่อัตราว่างงานในประเทศกลุ่ม OECD จะเพิ่มขึ้นแตะ 9.2% จาก 5.4% ในปี 2562

OECD คาดการณ์ด้วยว่า ในทั้ง 2 กรณีนั้น เศรษฐกิจจะใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด หลังจากที่ได้เริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอีกครั้งในระยะแรก และวิกฤตนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกนาน อาทิ มาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำลง, อัตราการว่างงานในระดับสูง และการลงทุนที่ซบเซา โดยปัญหาการตกงานในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น การท่องเที่ยว งานบริการ และความบันเทิงนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อแรงงานที่มีทักษะต่ำ แรงงานที่มีอายุน้อย และแรงงานนอกระบบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มิ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top