PTT คาดปีนี้รายได้-มาร์จิ้นหดตามตลาด เตรียมออกหุ้นกู้เสริมสภาพคล่อง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้และอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ในปี 63 มีทิศทางลดลงตามภาวะตลาดที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้ลดลง ฉุดราคาน้ำมันและปิโตรเคมีปรับตัวลดลงตามไปด้วย ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดระลอกสอง และภาวะเศรษฐกิจของไทยและโลกยังอ่อนแอ ส่วนสงครามราคามองว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะดีขึ้น หลังหลายประเทศทยอยปลดล็อกมาตรการเข้มสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสก็ขยายเวลาลดกำลังการผลิตเพื่อช่วยดูแลราคาน้ำมัน ทำให้มองว่าราคาน้ำมันจากนี้จะดีขึ้นไปถึงปลายปีที่บริเวณ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากที่ราคาน้ำมันได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่อผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 ที่มีรายได้ลดลง 12.2% จากงวดปีก่อน และพลิกมีขาดทุนสุทธิ 1.55 พันล้านบาท ทำให้บริษัทเน้นการบริหารสภาพคล่องเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระ ทบที่จะเกิดขึ้น โดยได้ยื่นแบบเสนอขายหุ้นกู้ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพี่อขอออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงิน (B/E) ในวงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท

โดยในส่วนนี้เป็นหุ้นกู้ 4.4 หมื่นล้านบาท และตั๋ว B/E วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินออกหุ้นกู้ 1.5 แสนล้านบาทที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ส่วนจะมีการออกหุ้นกู้เมื่อใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดและความต้องการใช้เงินด้วย

รวมถึงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการ “ลด-ละ-เลื่อน” โดยทั้งกลุ่ม ปตท.จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และทบทวนปรับลดแผนการลงทุน (CAPEX) ของกลุ่มในปีนี้ราว 10-15% จากวงเงินทั้งหมดราว 2.5 แสนล้านบาท ตลอดจนมีความร่วมมือในการทำ PTT group value chain optimization เพื่อให้มีประสิทธิภาพภายใต้ต้นทุนต่ำที่สุด และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม

“เราทำให้ make sure ว่าสภาพคล่องเรายังมีอยู่ไม่มีปัญหา ล่าสุดเราได้ยื่นออกหุ้นกู้และตั๋ว B/E วงเงินรวม 6.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นแผนหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้ทั้งหมด และเรายังมีวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้ราว 1.5 แสนล้านบาทที่น่าจะรองรับได้”นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่ดีขึ้นจนทำให้รัฐบาลจะยกเลิกเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.นี้ เชื่อว่าจะทำให้ยอดการใช้น้ำมันและยอดขายธุรกิจ non oil ผ่านสถานีบริการน้ำมันของปตท.ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ในส่วนของยอดขายน้ำมันอากาศยานทั้งปีนี้เชื่อว่าจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยประเมินยอดขายจะลดลงราว 80% หลังจากที่ในช่วงเดือนเม.ย.ที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นทำให้ยอดขายน้ำมันอากาศยานหายไปถึง 90%

สำหรับการที่ บมจ.การบินไทย (THAI) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น กระทบกับ ปตท.ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้การค้าน้ำมัน ซึ่งปัจจุบัน THAI มีหนี้คงค้างอยู่ราว 760 ล้านบาท ส่วนจะตั้งสำรองหนี้ในส่วนนี้อย่างไรยังขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องมีการจัดลำดับเจ้าหนี้ก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้ปตท.ยังทำธุรกรรมซื้อขายน้ำมันกับ THAI อยู่ แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายจากเดิมที่เป็นเครดิตเทอม 30 วัน ก็เปลี่ยนเป็นการให้ชำระเงินสด

ส่วนความคืบหน้าในการนำ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของก.ล.ต. อย่างไรก็ตามการจะกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ยังขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นด้วย

อนึ่ง นายอรรถพล แถลงวิสัยทัศน์ครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยระบุถึงภารกิจปตท. ที่จะต้องรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลักและสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม ตามแนวคิดที่เรียกว่า PTT (Powering Thailand’s Transformation) ด้วยกลยุทธ์ “PTT by PTT”

ประกอบด้วย Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจของปตท.ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มากกว่าการเป็นผู้ผลิตสินค้าและจำหน่าย , Technology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล และ Transparency and Sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการระยะยาวนั้น ยุทธศาสตร์ของกลุ่มธุรกิจ ในส่วนของธุรกิจขั้นต้น (Upstream) มุ่งสู่การสร้างห่วงโซ่อุปทานธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Value Chain และการสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ในต่างประเทศ โดยในส่วนของธุรกิจบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จะเน้นการขยายในธุรกิจก๊าซฯเป็นหลักเพราะก๊าซฯยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีพลังงานที่คาดว่าจะใช้เวลา 20 ปี

ส่วนธุรกิจก๊าซฯ ของปตท. เน้นการเป็น Regional Hub โดยมุ่งเน้นเรื่องการตลาดเป็นสำคัญ ซึ่งล่าสุดปตท.ได้สัญญานำเข้า LNG จากตลาดจร (spot) ที่ต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จำนวน 2 ลำเรือเพื่อเตรียมนำเข้ามาในเร็ว ๆ นี้ ทำให้เชื่อว่าจะมีศักยภาพการแข่งขันในอนาคต แม้ว่ารัฐบาลจะเปิดให้เอกชนอีก 3 แห่งได้ใบอนุญาตนำเข้า LNG เข้ามา เพราะหากปตท.สามารถนำเข้าได้ในราคาที่ถูกกว่า ก็จะทำให้ลูกค้าผู้ใช้ก๊าซฯจากปตท.ไม่ลดลงไป อย่างไรก็ตามในส่วนของธุรกิจก๊าซฯและไฟฟ้า ต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในอนาคตด้วย

สำหรับธุรกิจขั้นปลาย (Downstream) ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันต้องวางตัวให้เป็นลำดับต้นของอุตสาหกรรมเพื่อที่จะให้สามารถยืนอยู่ได้จนรายสุดท้ายหากอุตสาหกรรมต้องสิ้นสุดลง รวมถึงธุรกิจปิโตรเคมีต้องแข่งขันได้แม้จะเผชิญวัฏจักรขาลง โดยต้องเน้นสินค้ามูลค่าเพิ่มและ Specialty พร้อมทั้งมองต่อยอดในสินค้ากลุ่มไบโอเคมิคอลด้วย ขณะที่ธุรกิจเทรดดิ้งจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ เพราะหากการจัดหาน้ำมันจากภูมิภาคใดมีปัญหาก็จะสามารถจัดหาน้ำมันจากแหล่งอื่นเข้ามาทดแทนได้ ด้านธุรกิจน้ำมันและรีเทลนั้น จะมุ่งสร้างแบรนด์คนไทยไปขยายในต่างประเทศ

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า กลุ่มปตท.ยังอยู่ระหว่างทบทวนแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะมีขึ้น โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มปตท. เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในอนาคตของกลุ่ม (Strategic Thinking Session: STS) ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top