คมนาคม ถกหาแนวทางเดินหน้าทางด่วนตอน N1 คาดสรุปใน 2-3 สัปดาห์

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานร่วมฯพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ว่า ที่ประชุม ได้หารือถึงการก่อสร้างทางด่วนตอนทดแทน N1 ซึ่งเป็นโครงข่ายที่มีความจำเป็นในการเชื่อมการเดินทางจากกรุงเทพฯด้านวงแหวนตะวันตก-วงแหวนตะวันออก

โดยได้รับทราบหลักการรูปแบบการก่อสร้างทางด่วนตอน N1 เป็นทางยกระดับมีหลังคาครอบ โดยได้ให้ตั้งทีมงานด้านเทคนิควิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกัน มีผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมทางหลวง และม.เกษตร เพื่อร่วมหารือและออกแบบรายละเอียด และสรุป ภายใน 2-3 สัปดาห์ หากได้ข้อยุติจะเร่งนำเสนอรมว.คมนาคม เห็นชอบ และนำไปสู่การดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ กทพ.ได้เสนอรูปแบบก่อสร้างช่วงถนนงามวงศ์วาน ผ่านม.เกษตร เป็นทางด่วนยกระดับและก่อสร้างหลังคาครอบด้านบน เพื่อป้องกันผลกระทบเสียงและฝุ่นละออง ควันพิษ PM2.5 ลงสู่ด้านล่าง ซึ่งในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี มีการก่อสร้างทางด่วนในรูปแบบนี้ โดยยกระดับและทำหลังคาครอบในช่วงที่ผ่านเมืองหรือชุมชน จึงเห็นว่าเป็นแนวทางที่ก่อสร้างได้

ส่วนแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงถนนงามวงศ์วาน จะใช้พื้นที่ของม.เกษตร บางส่วน ก่อสร้างตอม่อ เนื่องจากติดอุโมงค์ ถนนงามวงศ์วาน ซึ่งได้ออกแบบเบื้องต้น พบว่า จะมีการใช้พื้นที่สำหรับวางตอม่อรถไฟฟ้า 2 จุด คือ บริเวณสะพานยกระดับข้ามถนนวิภาวดี เบี่ยงเข้าไปในเกษตร ประมาณ 8-9 เมตร และ ช่วงถนนงามวงศ์วาน ระหว่างแยกวิภาวดีและแยกพหลโยธิน ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ใช้พื้นที่สำหรับทางขึ้น-ลง ซึ่งสถานีจะอยู่ตรงกลาง สามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีแดงได้

ซึ่งเบื้องต้นม.เกษตร ระบุว่าต้องการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แต่การใช้พื้นที่สำหรับวางตอม่อและทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้านั้นจะต้องหารือในรายละเอียดอีก โดยเป็นการขอใช้พื้นที่ ไม่มีการเวนคืน เป็นการรอนสิทธิ์ขอปักตอม่อ โดยกทพ.และรฟม.จะจ่ายค่าใช้พื้นที่ โดยที่ดินยังเป็นของม.เกษตรเหมือนเดิม

ส่วนก่อนหน้านี้ ที่มีการศึกษารูปแบบ อุโมงค์ทางด่วนช่วงผ่านม.เกษตรนั้น พบว่ามีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท และมีความยากในด้านวิศวกรรมออกแบบและก่อสร้างเพราะอุโมงค์ต้องลึกมาก เพื่อลอดต่ำกว่าอุโมงค์ลอดทางแยกถนนพหลโยธินในปัจจุบัน และเมื่อพ้นช่วงเกษตร จะต้องปรับยกระดับขึ้นค่อนข้างชันเพื่อไปเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก แต่หากทำ N1 เป็นทางด่วนยกระดับ ทางเทคนิคจะทำได้ง่ายกว่า โดยช่วงผ่านวิภาวดีจะยกสูงขึ้นเป็นระดับ 4 เหนือดอนเมืองโทลล์เวย์ เท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ค่าก่อสร้างน้อยกว่าอุโมงค์ทางด่วนมาก

สำหรับ ช่วง N2 จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. วงเงินลงทุน 14,3742 ล้านบาท คณะกรรมการ กทพ.เห็นชอบแล้ว แต่การดำเนินโครงการ ที่เกิดประโยชน์นั้นจะต้องดำเนินการช่วง N1 ด้วย เพราะเป็นโครงข่ายในการเชื่อมการเดินทางโซนตะวันออก-ตะวันตก (East –West Corridor) หากไม่มี N1 การก่อสร้าง N2 ก็ไม่มีประโยชน์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top