สศก.เผย Q1/63 ส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอาเซียนยังเกินดุลฯ

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและยางพาราธรรมชาติ (พิกัด 4001) ของไทยกับภูมิภาคอาเซียน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 63 (มกราคม-มีนาคม) พบว่า ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าตลาดอาเซียนช่วง 3 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่า 37,264 ล้านบาท แต่ลดลง 31.13% จากปีก่อน

คู่ค้าสำคัญของไทย 3 ลำดับแรก ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังกัมพูชาเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าการส่งออก 14,336 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.01% สินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์และสุกรมีชีวิต ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลังและมันเส้น เนื่องจากไทยมีปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเสียหายและมีปริมาณน้อยจึงต้องมีการนำเข้าจำนวนมาก

รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก 12,218 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.20% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางข้น ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ กาแฟสำเร็จรูป ขนมปังและ ขนมจำพวกเบเกอรี่อื่นๆ และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการส่งออก 11,994 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.90% สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบและสตาร์ททำจากมันสำปะหลัง ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ ปลาอินเดียนแมคเคอเรลและปลาไอส์แลนด์แมคเคอเรล เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตปลาทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งไทยได้นำเข้ามาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งออกต่อไป

สำหรับมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรรวม 113,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.10% จากปี 62 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีมูลค่าส่งออกเป็น 75,415 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งและนม และสัตว์มีชีวิต อาทิ สุกรมีชีวิตอื่นๆ ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป สุกรมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์ โคตัวผู้

ส่วนการนำเข้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 38,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.43% จากปี 62 โดยกลุ่มสินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ พืชผักที่บริโภคได้โดยเฉพาะมันสำปะหลังและถั่วเขียว ปลาและสัตว์น้ำ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ ข้าวและธัญพืช และของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งและนม

ทั้งนี้ สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาการอนุญาตให้มีการนำเข้าโดยไม่จำกัดปริมาณภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบกับผลผลิตในประเทศมีปริมาณน้อยลง ทั้งจากปัญหาภัยแล้งรวมถึงโรคระบาดในข้าวโพด ทำให้ผลผลิตที่ได้มีไม่เพียงพอ ต่อความต้องการใช้ จึงมีการนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และจำหน่ายต่อไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 62 เนื่องจากในหลายภูมิภาคของไทยประสบปัญหาภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและมาเร็วกว่าปกติ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

ภาครัฐได้ดำเนินการตามมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.) เพื่อเยียวยาและแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ให้สามารถนำเงินใช้เพื่อการยังชีพลงทุนทำการเกษตรพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 63)

Tags: , ,
Back to Top