In Focus: คาบสมุทรเกาหลีระอุ นางพญาคิมระเบิดสัมพันธ์เหนือ-ใต้ขาดสะบั้น

เสียงระเบิดที่ดังสนั่นขึ้นบริเวณสำนักงานประสานงานระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในช่วงบ่ายวานนี้ ได้จุดชนวนความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีให้ลุกโชนขึ้น พร้อมกับที่ชื่อ “คิม โย จอง” น้องสาวหัวแก้วหัวแหวนของนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีข่าวลือออกมาว่า จะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อจากพี่ชาย ปรากฏขึ้นเป็นเป้าสายตาชาวโลกอีกครั้ง ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการเพื่อตอบโต้ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ส่งใบปลิวโจมตีรัฐบาลตระกูลคิมข้ามแดนมายังเกาหลีเหนืออย่างไม่หยุดหย่อน

ดังทราบกันอยู่แล้วว่า สำนักงานประสานงานระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ตอนนี้กลายเป็นซากปรักหักพังไปแล้วนั้น เป็นเสมือนตัวแทนของความปรองดองระหว่างสองเกาหลี การที่สำนักงานแห่งนี้ถูกระเบิดเป็นจุณจึงไม่ต่างกับการส่งสัญญาณตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ให้ขาดสะบั้นลง In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาไปเกาะติดสถานการณ์ มองอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีต่อไปจากนี้

20 ปีปฏิญญาร่วมเหนือ-ใต้ เมื่อความสัมพันธ์ที่เริ่มหอมหวานถึงคราวสะดุด

ปี 2563 นี้นับเป็นอีกปีที่มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีของการประกาศปฏิญญาร่วมเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ที่อดีตผู้นำเกาหลีเหนือ นายคิม จอง อิล และอดีตประธานาธิบดีคิม แด จุง ของเกาหลีใต้ จับมือให้คำมั่นว่าจะรักษาสันติภาพระหว่างกัน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดระหว่างสองเกาหลีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2543 ณ กรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ อันเป็นจุดกำเนิดของ “นโยบายตะวันฉาย” (Sunshine Policy) ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยุคต่อๆ มายึดถือเป็นต้นแบบในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเกาหลีเหนือมาจนถึงปัจจุบัน

7 ปีต่อมา การประชุมสุดยอดเกาหลีถูกจัดขึ้นอีกครั้ง ในเดือน ต.ค. 2550 ระหว่างนายโน มู ฮย็อน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น กับนายคิม จอง อิล โดยผู้นำทั้งสองได้มีการหารือเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกัน นำไปสู่การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแกซองขึ้นบริเวณพื้นที่ชายแดนเกาหลีเหนือติดต่อกับเกาหลีใต้ และเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2561 โลกก็ได้จารึกช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ เมื่อนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือพร้อมคณะ เดินเข้ามายังเส้นกำหนดเขตทหาร (Military Demarcation Line: MDL) เพื่อสัมผัสมือกับนายมูน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ยืนรออยู่อีกฝั่งในเขตเกาหลีใต้ พร้อมประคองกันเดินข้ามแนวคอนกรีตกั้นพรมแดน ส่งผลให้นายคิม จอง อึน กลายมาเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่เหยียบแผ่นดินเกาหลีใต้

การพบกันของผู้นำสองเกาหลีในเดือนเม.ย. 2561 นั้นเอง เป็นจุดกำเนิดของการก่อตั้งสำนักงานประสานงานในเดือนก.ย. ปีเดียวกัน เพื่อให้เป็นหน่วยงานประสานงานด้านต่างๆ ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตร่วมกันอย่างเป็นทางการ หรืออาจกล่าวได้ว่าสำนักงานแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “สถานทูต” ในทางพฤตินัย ทั้งยังถูกออกแบบมาให้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมีเจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝ่ายร่วมกันดูแล ก่อนจะระงับการปฏิบัติงานเมื่อปลายเดือนม.ค. เนื่องจากการเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ประจำการในสำนักงานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำนักข่าว KCNA ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รายงานเมื่อวันอังคาร (16 มิ.ย.) ว่า สำนักงานประสานงานระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแกซอง เมืองชายแดนของเกาหลีเหนือนั้น ถูกทำลายจน “พังราบเป็นหน้ากลอง” เมื่อเวลา 14.50 น. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คิม โย จอง น้องสาวของผู้นำเกาหลีเหนือออกมาส่งสัญญาณว่าจะมีการทำลายสำนักงานแห่งนี้ โดยกล่าวว่า “อีกไม่นาน เราจะได้เห็นสำนักงานประสานงานอันไร้ประโยชน์แห่งนี้ถูกทำลายจนราบคาบ”

การทำลายสำนักงานประสานงานซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งความปรองดองระหว่างสองเกาหลีในครั้งนี้ ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างคาบสมุทรเกาหลีปะทุขึ้นอีกครั้ง ขณะที่กองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) เริ่มมีความเคลื่อนไหว ด้วยการออกมาประกาศว่า กำลังพิจารณาส่งทหารกลับเข้าไปประจำการในเขตปลอดทหารที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงของ 2 ฝ่ายหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลี และจะเปลี่ยนเส้นแนวหน้าให้กลายมาเป็นป้อมปราการเพื่อประจันหน้ากับเกาหลีใต้

เกาหลีเหนืออ้างเหตุไม่พอใจพวกแปรพักตร์โปรยใบปลิวโจมตีระบอบคิม

การแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวของเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นหลังจากโฆษกทบวงแนวร่วมแห่งคณะกรรมการกลางพรรคแรงงาน (CCWP) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบดูแลความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ ออกมาเปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 31 พ.ค ที่ผ่านมา มีใบปลิวต่อต้านเกาหลีเหนือถูกโปรยออกมาอย่างเปิดเผย มีการทิ้งขยะสกปรกจากเกาหลีใต้เข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งบั่นทอนกำลังใจเรามากพอที่จะตระหนักถึงข้อสรุปที่ชัดเจนว่าศัตรูก็ยังคงเป็นศัตรู” พร้อมระบุว่า “ประชาชนของเรารู้สึกโกรธแค้น และรังเกียจกับการแจกใบปลิวต่อต้านเกาหลีเหนือ โดยเป็นฝีมือของ ‘ผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ’ รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เมินเฉยต่อปัญหานี้”

มูลเหตุของความขัดแย้งที่ถูกอ้างถึงในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองระหว่างสองเกาหลีมาเป็นเวลานาน โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ ที่มีชื่อว่า Fighters for a Free North Korea (FFNK) ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ ที่มักจะใช้วิธีการส่งใบปลิวต่อต้าน รวมถึงการเผยแพร่วิดีโอ ภาพยนตร์ และทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อประณามระบอบการปกครองเปียงยางและกระตุ้นให้ชาวเกาหลีเหนือลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล จนสร้างความไม่พอใจให้กับเกาหลีเหนืออยู่เสมอๆ จนเกาหลีเหนือถึงกับตราหน้าว่าเป็น “สวะสังคม” และพยายามกดดันรัฐบาลกรุงโซลให้สกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ก่อนจะลุกลามบานปลายมาเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้เคยออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวดังกล่าวมีสิทธิตามหลักประชาธิปไตยในการทำกิจกรรมของพวกเขา เกาหลีใต้ทำได้เพียงวิงวอนให้พวกเขาระงับกิจกรรมที่เป็นการยั่วยุเกาหลีเหนือมากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ชาวเกาหลีใต้ก็ใช่ว่าจะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ FFNK โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ใกล้พรมแดนเกาหลีเหนือ ซึ่งมองว่า การกระทำเหล่านี้ทำให้ชีวิตของพวกเขาอยู่ในอันตราย เนื่องจากต้องตกเป็นเป้าโจมตีของเกาหลีเหนืออยู่เนืองๆ ทางด้านสถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลีใต้ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวเกาหลีใต้ 1,000 คนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ FFNK เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ผู้เข้าร่วมการสำรวจเกือบ 70% ไม่เห็นด้วยกับการโปรยใบปลิวต่อต้านเกาหลีเหนือ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจถึง 60% ต้องการให้ FFNK หยุดการกระทำที่เป็นการยั่วยุเกาหลีเหนือ เนื่องจากมองว่าเป็นการคุกคามความปลอดภัยของชาวเกาหลีใต้ที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน และขัดขวางความพยายามในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองเกาหลี ขณะที่อีก 39% ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม FFNK เป็นการแสดงออกถึงเสรีภาพและตีแผ่เรื่องราวในเกาหลีเหนือให้โลกภายนอกได้รับรู้

ผลสำรวจยังพบอีกว่า ชาวเกาหลีใต้ที่ร่วมตอบแบบสอบถามเกือบ 70% มองว่าความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างสองเกาหลีควรดำเนินต่อไปภายใต้ข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติ (UN) ขณะที่ 50% สนับสนุนให้รัฐบาลใช้มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพื่อตอบโต้กรณีจมเรือรบ “โชนัน” (Cheonan) เมื่อปี 2553 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่งยังระบุด้วยกว่า ความจริงใจในการปลดอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงของเกาหลีเหนือนั้นคือปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหานิวเคลียร์

โลกจับตา คิม โย จอง ตอกย้ำกระแสผู้สืบทอดอำนาจคนต่อไปของตระกูลคิม

ปฏิบัติการถล่มสำนักงานประสานงานระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในเมืองแกซอง บริเวณชายแดนของเกาหลีเหนือวานนี้ ทำให้ชื่อของ คิม โย จอง น้องสาวผู้นำเกาหลีเหนือ กลายมาเป็นที่สนใจของทั่วโลกอีกครั้ง ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการนี้ หากยังจำกันได้ เมื่อเร็วๆ นี้ เธอคยตกเป็นเป้าสายตาชาวโลกมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อคราวเกิดกระแสข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพของนายคิม จอง อึน ซึ่งหายไปจากหน้าสื่อและไม่ได้ปรากฏตัวในงานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของนายคิม อิล ซุง ปู่ของเขา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ทั้งๆ ที่วันดังกล่าวถือเป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุดของประเทศ จนถึงขั้นที่ว่า มีการคาดเดาว่าผู้นำเกาหลีเหนือกำลังป่วยหนัก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตแล้ว และคิม โย จอง ผู้เป็นน้องสาวคือผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดคนต่อไป

คิม โย จอง ปรากฏตัวต่อสื่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในงานศพของนายคิม จอง อิล อดีตผู้นำเกาหลีเหนือผู้เป็นบิดาเมื่อปี 2544 และมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่นายคิม จอง อึน ผู้เป็นพี่ชายขึ้นรับตำแหน่งประมุขเกาหลีเหนือ โดยเธอมักปรากฏกายเคียงข้างพี่ชายในภารกิจสำคัญๆ อยู่เสมอ ทั้งยังเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำคิม เดินทางไปร่วมพิธิเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้ในปี 2561 ส่งผลให้เธอถูกจารึกว่าเป็นสมาชิกตระกูลคิมคนแรกที่เดินทางเยือนเกาหลีใต้ ปัจจุบัน คิม โย จอง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลภาพลักษณ์ของ คิม จอง อึน ให้ดูดีในสายตาชาวโลก นอกจากนี้ เธอยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกโปลิตบูโร ซึ่งทำให้เธอกลายมาเป็นสตรีที่มีอิทธิพลสูงสุดในเกาหลีเหนือรองจากผู้นำคิมในขณะนี้

แม้ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการผู้หญิงจะมีโอกาสได้ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เนื่องด้วยระบบสังคมที่มีแนวคิดแบบขงจื่อซึ่งยึดลำดับขั้นและถือผู้ชายเป็นใหญ่ฝังอยู่ในรากลึก แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ไม่ได้ถูกปฏิเสธความเป็นไปได้อย่างสิ้นเชิง ขณะที่ คิม โย จอง เองหากตัดประเด็นเรื่องความเป็นผู้หญิงออกไป นับได้ว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติในการสืบทอดอำนาจคนต่อไป เพราะเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่มีสายเลือดแห่งเพ็กดูอันศักดิ์สิทธิ์ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย หรือเป็นทายาทที่สืบสายตรงมาจากผู้นำคิม อิล ซุง ทั้งยังเป็นน้องสาวร่วมมารดาเพียงคนเดียวของ นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน ประกอบกับการปรากฏตัวในบทบาทสำคัญๆ อยู่เสมอๆ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ไกลเกินจริง

ปฏิบัติการถล่มสำนักงานประสานงานร่วมระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในครั้งนี้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่าอาจเป็นจุดหักเหของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเคยจับมือตกลงว่าจะเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่แห่งสันติภาพไปด้วยกัน ยิ่งผู้มีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการครั้งล่าสุดนี้คือ คิม โย จอง ซึ่งถูกมองว่าอาจเป็นผู้สืบทอดอำนาจผู้นำเกาหลีเหนือคนต่อไปด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ฤานี่จะเป็นการกำหนดทิศทางอนาคตของคาบสมุทรเกาหลีที่ลุ่มๆ ดอนๆ มานานหลายทศวรรษ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top