สธ.ขอเวลาศึกษา Travel Bubble จากตปท.มาปรับใช้ลดความเสี่ยง

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีการติดตามบทเรียนจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการทยอยผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ มา 4 ระยะเล้วก็เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างประเทศ

รวมถึงกรณี Travel Bubble ที่เป็นการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี ซึ่งกำลังเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศและนำมาปรับใช้กับประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น กรณีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ตกลงกันแล้วทำแล้ว ทำอย่างไรถึงปลอดภัย

“เราเองถ้าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาแล้วพอใจ เราเองคนในประเทศก็ไม่เสี่ยงมาก ทำอย่างไรให้ธุรกิจเหล่านี้กลับฟื้นคืนมาสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ การที่เราตรวจเชื้อหรือให้ประเทศต้นทางตรวจเชื้อ เพื่อการันตีว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องตรวจเชื้อ ไม่ว่าจะมีโรคหรือไม่มี ก็ต้องตรวจเชื้อก่อน การกักกันโรค จำเป็นหรือไม่ จะมีวิธีไหนที่นักท่องเที่ยวที่มาในกลุ่มแบบ Travel Bubble ไม่ต้องกักตัว 14 วัน อยู่ให้สั้นลงได้มั้ย กำลังคิดกันอยู่ ใช้ประสบการณ์ต่างประเทศมาปรับใช้ เพื่อทำให้เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และไม่สร้างความเสี่ยงให้กับประเทศ”

พร้อมย้ำว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ต้องกังวลขณะนี้ คือ อเมริกาใต้ ยังน่าเป็นห่วง เอเชียใต้ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ก็ไม่ได้ดี ขณะที่ตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อียิปต์ ยังมีคนไทยอยู่ที่ประเทศทางตะวันออกกลาง และประสงค์จะกลับมาประเทศไทย ขอให้ไปแจ้งสถานทูตหรือกงสุล เพื่อลงทะเบียน พร้อมให้คำแนะนำการปฎิบัติตัว ที่ผ่านมาจำนวนเที่ยวบินจากตะวันออกกลางอาจจะน้อย ขณะที่ความต้องการกลับมาสูง ขณะนี้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทราบแล้ว จะมีการจัดการเพิ่มเที่ยวบินให้

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มอบหมายให้กรมควบคุมโรค และนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หารือกับทูตประเทศต่าง ๆ เป็นรายประเทศ โดยพิจารณาแนวทางการเปิดท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของประเทศไทย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องทำ MOU กำหนดข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ หากปฏิบัติไม่ตรงกับ MOU สามารถยกเลิกสัญญาได้ เริ่มจากกลุ่มนักธุรกิจ วิศวกร และครูโรงเรียนนานาชาติ เพื่อให้มีการเดินทางได้ภายใต้กรอบที่วางเอาไว้ให้เกิดความปลอดภัยและมั่นใจว่าไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด โดยมาตรการและหลักปฏิบัติจะเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ส่วนมาตรการ “ไทยเที่ยวไทย” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้รับสิทธิเที่ยวฟรี ตามเงื่อนไขที่กำหนดในแพ็คเกจ “กำลังใจ” นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า สนับสนุนโครงการที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนทำงาน และเมื่อนำเงินไทยใช้ในประเทศไทย ก็เป็นการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจไทย ย่อมเป็นผลดีต่อภาพรวม ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบ ภาครัฐไม่ได้ปล่อยปละละเลย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top