‘Fast, Fair, Fun’ กลยุทธ์การสื่อสารและรับมือที่ไต้หวันใช้สกัดวิกฤตโควิด-19

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวันเผยกลยุทธ์การสื่อสารที่ช่วยให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการรับมือและสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ในงาน TECHSAUCE VIRTUAL SUMMIT 2020 แบบออนไลน์ ซึ่งมี สุทธัชัย หยุ่น ผู้ก่อตั้ง Kafedam เป็นผู้สัมภาษณ์

ไต้หวันไม่ได้ถูกโควิด-19 ผลักดันให้เกิด Digital Transformation

ออเดรย์ได้ตอบคำถามคุณสุทธิชัยว่า ไต้หวันไม่ได้ถูกกดดันจากโควิด-19 ให้เข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนโฉมสู่ดิจิทัลหรือ Digital Transformation เพราะไต้หวันมี Digital Democracy ซึ่ง Digital Democracy ของไต้หวันนั้นดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดพื้นฐานร่วมกัน โดยจะมีการสนับสนุนโซเชียลมีเดียมากกว่าที่จะต่อต้านโซเชียลมีเดีย

ข้อได้เปรียบจากโควิด-19 ที่ได้เข้ามาผลักดันการเปลี่ยนโฉมสู่ดิจิทัลของไต้หวัน ได้แก่ Fast, Fair และ Fun โดย Fast หรือความรวดเร็วถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งทำให้เกิดการพูดคุยออนไลน์ โดยไต้หวันมีแพลตฟอร์มสำหรับการพูดคุยออนไลน์คล้าย ๆ กับ Reddit ที่เรียกว่า PTT ที่ได้แจ้งเตือนในไต้หวันเกี่ยวกับเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นของจีนเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โดยไต้หวันทราบเรื่องโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เพราะนายแพทย์ของไต้หวันรายหนึ่งได้แจ้งเตือนผ่าน PTT เรื่องการติดเชื้อโควิดในจีน ซึ่งต่อมาได้มีการรีโพสต์ดังกล่าวจนทำให้เจ้าหน้าที่ของไต้หวันสั่งการให้มีการตรวจสอบสุขภาพของผู้โดยสารที่เดินทางเข้าไต้หวันจากจีนในวันรุ่งขึ้นในทันที ซึ่งไต้หวันได้มีการใช้ระบบนี้มาโดยตลอด จึงทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในระบบ

ไต้หวันกับวิธีการสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลและปชช.

ออเดรย์ กล่าวตอบคำถามถึงวิธีการสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชนว่า บริการโทรสายด่วน 1922 คือ วิธีการสร้างความไว้วางใจดังกล่าว ซึ่งโทรสายด่วนถือเป็นเทคโนโลยีที่เรียบง่าย ไม่ว่าใครก็ตามที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ก็สามารถหยิบโทรศัพท์แล้วโทรเข้ามาแจ้งเจ้าหน้าที่สายด่วนได้ ซึ่งในช่วงนั้น มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งโทรเข้ามาที่สายด่วนแล้วบอกว่า ไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเพื่อนล้อที่ใส่หน้ากากอนามัยสีชมพู หลังจากนั้น รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของไต้หวันก็ใส่หน้ากากอนามัยสีชมพูออกแถลงข่าวประจำวันในวันถัดมาในทันที และยังใส่หน้ากากอนามัยสีชมพูตอบคำถามผู้สื่อข่าวตลอดทั้งการแถลงข่าว ซึ่งบริการสายด่วนนี้ทำให้เกิดการกระจายข่าวและยังทำให้ผู้คนใช้บริการ

Fair ความเป็นธรรมในการดูแลเรื่องการจัดจำหน่ายและการเข้าถึงหน้ากากอนามัย

รมว.ดิจิทัลไต้หวัน กล่าวต่อไปถึงกลยุทธ์ Fair หรือความเป็นธรรมที่ไต้หวันได้นำมาใช้ว่า ไต้หวันได้ใช้ระบบประกันสังคมเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่า ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงและซื้อหาหน้ากากอนามัยได้ โดยไต้หวันได้ประกาศทุกๆ 30 นาทีว่า แต่ละร้านขายยามีหน้ากากอนามัยขายในจำนวนเท่าไหร่ ผู้ซื้อก็เพียงนำบัตรประกันสุขภาพของตนเองไปแสดงที่ร้านขายหน้ากากอนามัย ในขณะเดียวกันระบบการสื่อสาร จะแสดงจำนวนของหน้ากากอนามัยในแต่ละร้านในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถติดตามจำนวนของหน้ากากอนามัยได้อย่างต่อเนื่อง หากเห็นความผิดปกติของจำนวนหน้ากากอนามัยก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมสังคมร่วมกัน นับเป็นวงจรของความเป็นธรรม

นอกจากการจำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางร้านขายยาแล้ว ทางการยังได้ร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ เพื่อจำหน่ายหน้ากากอนามัยอีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งเปิดให้มีการสั่งซื้อล่วงหน้าได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีแอปของภาคประชาชนที่เข้ามาเพิ่มความสะดวกในการซื้อหน้ากากอนามัยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ความโปร่งใสอย่างถึงที่สุดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่รมว.ดิจิทัลไต้หวันได้กล่าวถึงบริบทของ Digital Democracy โดยความโปร่งใสที่เกิดขึ้นในระบบการจัดหาหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความเป็นเอกฉันท์ในไต้หวัน

Fun ใช้ความขบขันและสนุกสนานสยบข่าวลือ

ออเดรย์ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจาก Fast และ Fair ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเชื่อมั่นและเข้าถึงเรื่องการเมืองแล้ว ความสนุกสนานหรือ Fun ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนที่ไม่สนใจประชาธิปไตยหรือการเมืองหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีของไต้หวันที่มี “มีม” เป็นของตัวเอง

รมว.ดิจิทัล กล่าวว่า ตอนนั้นมีเรื่องของความกังวลเรื่องกระดาษทิชชู่ในไต้หวัน เพราะมีข่าวลือออกมาว่า หน้ากากอนามัยใช้กระดาษทิชชู่เป็นส่วนประกอบและโรงงานได้เพิ่มปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัย ข่าวลือได้แพร่กระจายออกไปและทำให้ผู้คนพากันออกมาซื้อกระดาษทิชชู่ จนทำให้เกิดการขาดแคลนกระดาษทิชชู่ ซึ่งทางกระทรวงก็เห็นว่าเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น และในช่วง 1 ชั่วโมงต่อมา นายกฯก็ได้ออกมาโชว์มีม (Meme) ของตนเอง ซึ่งเป็นรูปของนายกฯที่มีบั้นท้ายส่ายไปมา พร้อมกับข้อความที่บอกว่า เรามีบั้นท้ายเพียงแค่ 1 บั้นท้ายเท่านั้นนะ และวัสดุผลิตหน้ากากอนามัยในไต้หวันนะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล! หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่มีมดังกล่าว พฤติกรรมการแห่ซื้อกระดาษทิชชู่ก็หมดไป

ออเดรย์ กล่าวว่า การใช้มีมทำให้เกิดไวรัลตามมาและเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า และท้ายที่สุดทางการก็ทราบว่า ผู้ที่แพร่กระจายข่าวลือก็คือ บริษัทที่ขายกระดาษทิชชู่นั่นเอง นอกจากมีมนายกฯแล้ว ไต้หวันยังได้นำรูปสุนัขมาใช้ในสื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลอีกด้วย โดยในช่วงที่มีข่าวว่าโควิด-19 สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้และยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการออกมา ไต้หวันก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามเรื่องดังกล่าวที่องค์การอนามัยโลก และในระหว่างที่รอคำตอบอยู่นั้น ทางกระทรวงก็ได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวง และได้นำรูปสุนัขของเจ้าหน้าที่มาทำเป็นโปสเตอร์ เพื่อเผยแพร่คำแนะนำในการปฏิบัติตนให้กับประชาชนในช่วงที่ยังไม่มีการยืนยันถึงเรื่องการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

โดยการใช้รูปสุนัขในสื่อของทางการถือว่าได้ผลตอบรับที่ดีในช่วงที่ประชาชนมีความวิตกกังวล และทางการไต้หวันก็ไม่ต้องเสียเงินเพื่อซื้อรูปสุนัขมาประกอบสื่อที่ใช้งานอย่างเป็นทางการแต่อย่างใดด้วย

บทเรียนจาก SARS ของไต้หวัน

ออเดรย์ ยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับบทเรียนที่ไต้หวันได้จากการรับมือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ว่า จะต้องมีศูนย์กลางที่ดูแลการแพร่ะระบาด ไต้หวันจึงได้จัดตั้งศูนย์กลางขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการตอบคำถามประชาชน ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการให้ข้อมูลที่แตกต่างกันของทางการได้ และให้กระทรวงหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบส่งข้อมูลขององค์กรเข้ามายังศูนย์กลางดังกล่าว ซึ่งถือเป็น one stop service ในการตอบคำถามให้กับประชาชน และไม่มีฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ใช้มาตรการควบคุมพื้นที่บริเวณพรมแดน โดยมีหน่วยงานกลางที่จัดตั้งขึ้นมาเข้ามาดูแล ถ้ามีคนกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงจะต้องถูกกักตัว 14 วัน โดยถ้าประชาชนต้องการที่กักตัวที่บ้าน เราก็จะติดตามความเคลื่อนไหวจากมือถือว่า คน ๆ นี้ ออกจากบ้านหรือไม่ ถ้าออกจากบ้านก่อนกำหนดระยะเวลากักตัว 14 วัน เมื่อใด เราจะแจ้งให้ตำรวจไปดูว่าอยู่บ้านกักตัวหรือไม่ แต่เมื่อพ้นช่วง 14 วันไปแล้ว เราไม่สามารถไปติดตามประชาชนได้ การใช้วิธีนี้ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีมาตรการล็อกดาวน์

สำหรับคำแนะนำจากไต้หวันนั้น รมว.ดิจิทัล กล่าวว่า อย่าวิตกกังวลหรือหวาดกลัวเกินไป ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก ความคิดดี ๆ และเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยได้ อย่าตื่นเต้นกับแอปต่างๆ เพราะแอปจะช่วยเตือนเราได้ และถ้ามีไอเดียดี ๆ ก็อย่าลืมแชร์กับสังคม แล้วการขับเคลื่อนในสังคมก็จะเกิดขึ้นตามมา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top