อนาคตใหม่รอด! ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้องยุบพรรค

  • ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพรรคอนาคตใหม่-แกนนำไม่ได้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ
  • ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  • ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ กกต.มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้แก้ไขข้อบังคับพรรคอนาคตให้ครบถ้วนป้องกันความสับสนข้ดแย้ง
  • ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าแกนนำพรรคอนาคตใหม่ใช้สิทธิล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขณะรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยกคำร้องที่ระบุว่าพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากศาลเห็นว่าข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ และยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าแกนนำพรรคอนาคตใหม่มีพฤติกรรมใช้สิทธิล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ แต่เป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ยื่นคำร้องจากข้อมูลที่ปรากฎตามสื่อเท่านั้น

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ในฐานะผู้ร้องถึงกรณีข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 14 และ 15 หรือไม่ โดยระบุว่า เอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นไปพร้อมกับคำขอจดทะเบียนพรรคการเมือง ประกอบด้วย ข้อบังคับ ที่ต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ โดยข้อบังคับพรรค อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง

ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง และเอกสารพร้อมหลักฐานที่ยื่นขอจดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง ถูกต้องและครบถ้วนตามกฎหมาย ให้นายทะเบียนให้ความเห็นชอบต่อคณะกรรมการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง และให้ประกาศการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา

จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ผู้ยื่นคำขอจะต้องยื่นข้อบังคับพรรคการเมืองไปพร้อมกับคำขอด้วย จากนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงจะทำการตรวจสอบความถูกต้องว่าครบถ้วนหรือไม่ หากคำขอจดทะเบียนและเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะรับจดทะเบียนพรรคการเมือง และให้ประกาศการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เมื่อผู้ถูกร้องที่ 2 คือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับจดทะเบียนให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และมีประกาศจัดตั้งพรรคในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กรณีนี้ย่อมแสดงว่า ข้อบังคับพรรคไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบและได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ให้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม หากปรากฎข้อเท็จจริงในภายหลังว่า ข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 14, 15 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะรายงานไปยัง กกต.เพื่อพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับดังกล่าวได้

ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ หาได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นไม่ อีกทั้งพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำพรรค รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเพิ่มเติมขึ้นอีกในภายหลัง จึงยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่ามีการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การยื่นคำร้องจึงเป็นเพียงข้อห่วงใยในฐานะพลเมืองที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองของประเทศ

ส่วนข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้ถ้อยคำว่า “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะในส่วนรายการคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง ที่กำหนดว่า”พรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” ศาลฯ เห็นว่าการใช้ข้อความในข้อบังคับของพรรคการเมือง ควรให้มีความชัดเจนไม่คลุมเครือ แตกต่างจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ที่บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติได้ ซึ่ง กกต.มีอำนาจพิจารณาและมีมติให้ถอนข้อบังคับนั้นได้ เพื่อป้องกันความสับสน ขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันแก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป

กรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และ คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ มีพฤติการณ์ แนวคิด ทัศนคติคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก เป็นกระบวนการปฏิปักษ์ ปฏิกษัตริย์นิยม ความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทย โดยการแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ดังปรากฎตามสื่อมวลชนที่ผ่านมา ซึ่งการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน การแสดงความคิดเห็นต่อหน้าสาธารณะชน การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแสดงความคิดเห็นในช่องทางต่างๆ นั้น

ศาลฯ เห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลใดใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ จะต้องปรากฎข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้เห็นถึงความหมาย และความประสงค์นั้น ถึงระดับที่วิญญูชนควรเห็นว่าน่าจะทำให้เกิดผลในการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่ และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ

แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฎในคดีนี้ เป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์หรือการกระทำตามความคิดเห็นที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด จึงไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังว่า การกระทำเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ

ส่วนกรณีการกระทำอื่นใดของผู้ถูกร้องทั้ง 4 จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนั้นจึงเห็นว่าการกระทำตามที่คำร้องกล่าวอ้างไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ

“ณฐพร” พอใจผลวินิจฉัยของศาลฯ

นายณฐพร โตประยูร ผู้ยื่นคำร้อง เปิดเผยภายหลังรับฟังคำวินิจฉัยว่า พอใจกับคำวินิจฉัยในวันนี้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง และไม่ได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะถือว่าการทำหน้าที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ส่วนการแก้ไขข้อบังคับพรรคให้มีความชัดเจนตามที่ศาลฯ ระบุนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องไปดำเนินการต่อไปให้เกิดความเรียบร้อย

“พอใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาอย่างนี้ การทำหน้าที่ของผมที่อยากให้สังคมรับรู้ว่ามีพรรคการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนจะยุบพรรคหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นที่ผมต้องการ หมดหน้าที่ของผมแล้ว” นายณฐพร กล่าว

พร้อมระบุว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบพรรคอนาคตใหม่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 92 หรือไม่ ซึ่งหาก กกต.เห็นว่าเข้าข่ายความผิดนี้ ก็คงจะดำเนินการต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top