พาณิชย์เผยหลังคลายล็อกหนุนการค้ากลับสู่ปกติ ผ่อนปรนเพิ่มช่วยศก.ฟื้นเร็วขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยภาพรวมสถานการณ์ราคาและปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 11-17 มิ.ย.63 กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังมีมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 และระยะที่ 4

ประกอบกับไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากออสเตรเลีย ประชาชนส่วนใหญ่จึงคลายความกังวลและออกไปจับจ่ายใช้สอยที่ห้างสรรพสินค้า/ร้านค้าไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เสริมความงาม ท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ และมีการเดินทางข้ามจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หากมีการผ่อนปรนเพิ่มเติมน่าจะช่วยฟื้นฟูให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวเร็วขึ้นต่อไป

โดยภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคเดิมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา อาทิ ขาดสภาพคล่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ และการขนส่งที่ติดขัด/ล่าช้า ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ภาคการผลิตและจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยผู้ผลิตมีแผนปรับเพิ่มกำลังการผลิต ผู้ค้าทยอยปรับเพิ่มสต๊อกสินค้า และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ยังประสบปัญหาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ล่าช้า การจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มดีขึ้นจากการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเป็นสำคัญ

ภาคการส่งออก ส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว ยกเว้น สินค้าในกลุ่มข้าวขาว 100% ปลายข้าว ขนมปังกรอบ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และน้ำมันปาล์ม มีแนวโน้มลดลงตามคำสั่งซื้อและได้รับผลกระทบจากการปิดด่าน ไม่สามารถส่งสินค้าได้

ขณะที่สถานการณ์ด้านราคาพบว่าอยู่ในระดับปกติ ผักสดและผลไม้ ราคาปรับขึ้นลงตามสภาพอากาศที่แปรปรวนและช่วงฤดูกาล ส่วนเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าตัดแต่งผม ราคาทรงตัว สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า มีการปรับขึ้นลงตามโปรโมชั่น และสินค้าอนามัย ภาวะการค้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจความต้องการช่วยเหลือจากภาครัฐ พบว่า กลุ่มผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ ได้แก่

  • ผู้ประกอบการ 40% ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือทางภาษีต่างๆ เช่น ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปรับลดภาษีสรรพสามิต และปรับลดภาษีนำเข้า เป็นต้น
  • ผู้ประกอบการ 24.0% ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือการเข้าถึงเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้กับภาคธุรกิจ
  • ผู้ประกอบการ 16.0% ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกเอกสารการส่งออก เช่น กรณีวันหยุดยาวอยากให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ไว้ที่หน่วยงานราชการเพื่อติดต่อขอแบบฟอร์ม เอกสารและขั้นตอนของบางหน่วยงานมีความยุ่งยากซับซ้อนในการส่งออก
  • ผู้ประกอบการ 12.0% ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ เช่น ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องเงินประกันสังคมให้กับพนักงานของบริษัท และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือการปรับลดค่าน้ำและค่าไฟ เป็นต้น
  • ผู้ประกอบการ 8.0% ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือการขนส่ง เช่น ดำเนินการเจรจาต่อรองกับสายการเดินเรือเรื่องค่าระวางเรือที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย การลดอัตราค่าขนส่งทั้งการนำเข้าและส่งออก และสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับกับการเปิดสนามบินระหว่างประเทศ

ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า หลายเรื่องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งในกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกช่วงวันหยุดยาว กำลังเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านแก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ขนส่ง ส่วนหน่วยงานอื่นก็มีมาตรการด้านภาษีและการเงินออกมาแล้ว เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top