ไทยคาดเริ่มทดลองวัคซีนโควิด-19 ในคนปลายปีนี้

สธ.เดินหน้าวิจัยภูมิคุ้มกันคนเคยป่วย

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.กระทรวงสาธารณสุข

นายสาธิต ปิตุเดชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโครงการวิจัยภาวะภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโควิด-19 และผู้มีความเสี่ยงในคนไทย ว่า การพิชิตศึกโควิด-19 ชนะ 100% คือการมีวัคซีน โดยความร่วมมือของสถาบันวัคซีน กับมหาวิทยาลัยแพทย์ และบริษัทเอกชน มีความคืบหน้าตามลำดับ

ทั้งนี้ จากการรายงานมีการทดลองกับสัตว์ในระยะแรกหากเสร็จเรียบร้อยก็จะเริ่มทดลองในคน คาดว่าจะเริ่มทดลองในคนได้ช่วงปลายปีนี้ และในระหว่างการรอคอยวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขได้วิจัยเพิ่มข้อมูลช่วยรับมือโควิด-19 โดยนำเลือดของผู้ที่เคยติดเชื้อมาทำการวิจัยว่าคนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันที่ได้รับการเชื่อถือทางการแพทย์หรือไม่

นายสาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะให้ทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมทำวิจัยกับกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ เพื่อศึกษาวิจัยว่าเมื่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดและหายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันติดตัวไม่กลับมาเป็นอีกได้หรือไม่ และภูมิคุ้มกันมีระยะเวลายาวนานเท่าไหร่

“เรามีผู้ติดเชื้อที่หายแล้วประมาณ 3,000 กว่าคน และเสียสละผ่านการวิจัยเรื่องภูมิคุ้มกันเป็นข้อมูลสำหรับคนทั้งโลก หากพบว่าคนที่เป็นแล้วยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในร่างกายอย่างน้อย 3 ปี หรือเป็นแล้วจะไม่เป็นอีกซึ่งจะเป็นประโยชน์ พวกเขาเป็นฮีโร่ที่มาทดลองการวิจัยนี้” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต ยังกล่าวถึงการแพทย์วิถีใหม่ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบทางการแพทย์ คือ ติดต่อง่าย ติดเชื้อสูง รุนแรงเสียชีวิต จำนวนหลายรายทำให้ทรัพยากรไม่เพียงพอในการให้บริการ ประชาชนเข้าไม่ถึงการบริการ ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโควิดก็ถูกเลื่อนการให้บริการทางการแพทย์ ทำให้ต้องปรับกระบวนการแพทย์วิถีใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1. ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่

2. เพิ่มระยะห่างทางสังคม ลดความแออัดการให้บริการที่โรงพยาบาล

และ 3. เพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“เป้าหมายทั้ง 3 ประการจะเกิดความปลอดภัย จะมีการปรับโครงสร้างระบบการทำงานของบุคลากร และจะลดความแออัดสามารถจัดกลุ่มประเภทผู้ป่วยให้ชัดเจน จัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ใช้ Digital Solution ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขีดการเข้าถึงและยกระดับคุณภาพของการบริการทางการแพทย์ ระบบจัดการข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศเพื่อนำมาวิเคราะห์แก้ไขปัญหา” นายสาธิต กล่าว

ด้าน นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้จะอธิบายสมมติฐานที่ว่าคนติดเชื้อโควิดสามารถมีภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ อยู่นานเท่าไหร่และภูมิคุ้มกันนั้น ป้องกันโรคได้จริงหรือไม่

โดยขณะนี้กำลังเปิดรับอาสาสมัครในระยะแรก 500 คนจากกลุ่มคนที่หายแล้วให้มาบริจาคเลือดเพื่อดูว่าในเลือดมีภูมิคุ้มกันอะไรบ้างและมีคุณภาพอย่างไร จากนั้นจะติดตามต่อไปว่าผู้มีภูมิสามารถติดเชื้อได้หรือไม่ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครและผู้ใกล้ชิด เพื่อช่วยกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อปรับปรุงคุณภาพวัคซีนให้ดีขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top