‘อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป’ ยื่นไฟลิ่ง 90 ล้านหุ้นเข้า mai ลงทุน IT-ทุนหมุนเวียน

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (IND) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) แบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

ปัจจุบัน IND มีทุนจดทะเบียนจำนวน 175.00 ล้านบาท ซึ่งเป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 130.00 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และอีกส่วนหนึ่งรองรับการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 90 ล้านหุ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการให้บริการภายในปี 65 รวมทั้งใช้เงินทุนหมุนเวียนภายในปี 64

ด้านนายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM กล่าวเสริมอีกว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ของ IND จะทำให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือต่อคู่ค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและการขยายโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัท และช่วยพัฒนาให้บริษัทมุ่งสู่ความมั่นคงและยั่งยืนให้กับองค์กรในระยะยาว

ทั้งนี้ IND ก่อตั้งโดยกลุ่มวิศวกรชาวไทยตั้งแต่ พ.ศ.2526 ประกอบธุรกิจด้านวิศวกรรมที่ปรึกษา เกี่ยวกับงานออกแบบเบื้องต้นและออกแบบรายละเอียด (Conceptual & Detailed Design) รวมทั้งงานบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง (Construction Management & Supervision) งานออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design-Build) ให้แก่กลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

บริษัทร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น ด้านการคมนาคมขนส่ง โครงข่ายถนน ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบขนส่งทางราง ทางอากาศ ทางน้ำและทางท่อ การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพทางการขนส่ง การพัฒนาเมืองหลัก คลังน้ำมัน ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทได้ปรับปรุงและพัฒนาองค์กรให้มีมาตรฐานสากล พัฒนาบุคลากรภายในองค์กร ส่งผลให้บริษัทได้รับมาตรฐาน ISO 9001:2015 (ฉบับปรับปรุงจาก ISO 9001:2008) จาก United Registrar of Systems ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานประสิทธิภาพในระบบการทำงานของบริษัทในด้าน การให้บริการออกแบบ ควบคุมงาน การบริหารโครงการ ที่จะสนับสนุนให้บริษัทให้ขยายการให้บริการและเติบโตอย่างยั่งยืน

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันที่ 27 เม.ย.63 คือกลุ่มครอบครัว ณ ลำพูน นำโดยนายชัยณรงค์ ณ ลำพูน ถือหุ้นรวมกัน 170,560,000 หุ้น หรือคิดเป็น 65.60% ภาคหลังเสนอขายหุ้น IPO แล้วจะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 48.73% ส่วนที่เหลือเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท

บริษัทมีโครงการในอนาคตที่จะลงทุนราว 35 ล้านบาทในช่วงปี 63-65 ในระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารโครงการ Project Management Software รวมทั้งซอฟต์แวร์ Construction Solution Software เป็นโปรแกรมด้านวิศวกรรม งานออกแบบสถาปัตยกรรม และงานออกแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร, ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารงานทรัพยากรบุคคล

พร้อมทั้งการลงทุนในอากาศยานไร้คนขับ (UAV : Unmanned Aerial Vehicle) หรือ โดรน (Drone) เพื่อใช้ในงานทำแผนที่การสำรวจที่ดินและการก่อสร้าง , ลงทุนอุปกรณ์งานสำรวจต่างๆ , ลงทุนในอุปกรณ์เพื่อใช้ในการควบคุมงาน เครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบอุปกรณ์ด้านวิศวกรรมที่ทันสมัย มีความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบและวิเคราะห์มีความแม่นยำถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนจะลงทุนซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 64 และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 66 โดยมีแหล่งเงินทุนจากเงินทุนของบริษัทรวมกับการกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีกบางส่วน

สำหรับผลประกอบการของบริษัท รายได้ของบริษัทมาจากรายได้จากการให้บริการ และรายได้อื่น ซึ่งบริษัทแยกโครงสร้างรายได้จากการให้บริการตามส่วนประเภทของการให้บริการ ดังนี้

  1. รายได้จากงานออกแบบเบื้องต้นและออกแบบรายละเอียด
  2. รายได้จากงานบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง
  3. รายได้จากงานออกแบบพร้อมก่อสร้าง
  4. รายได้จากงานให้บริการอื่น

ภาพรวมในปี 60-62 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 1,171.34 ล้านบาท 1,658.51 ล้านบาท และ 747.89 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 43.21 ล้านบาท 65.06 ล้านบาท และ 13.11 ล้านบาท ตามลำดับ

รายได้ส่วนใหญ่มาจากงานโครงการออกแบบพร้อมก่อสร้างคลังน้ำมันพิจิตร และคลังน้ำมันลำปางของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ระยะเวลาโครงการปี 59-62 ทำให้รายได้ปี 60 และปี 61 เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ปี 62 รายได้ลดลงจากความคืบหน้าของงาน 2 โครงการใหญ่ดังกล่าว ประกอบกับการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15 มาถือปฏิบัติซึ่งมีผลกระทบต่อการรับรู้รายได้จากงานบริการออกแบบรายละเอียด ซึ่งรับรู้เมื่อลูกค้าตอบรับผลงานที่ส่งมอบไปในแต่ละขั้น

ส่วนงวด 3 เดือนแรกของปี 63 บริษัทมีรายได้ 146.03 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.45 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 0.01 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 195.84 ล้านบาท กำไร 11.64 ล้านบาท EPS อยู่ที่ 0.12 บาท รายได้และกำไรสุทธิลดลงเนื่องจากรายได้จากโครงการใหญ่ดังกล่าวลดลงจากการส่งมอบงานในปี 62 ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้น

ณ วันที่ 31 มี.ค.63 บริษัทมีมูลค่าสินทรัพย์รวม 572.35 ล้านบาท หนี้สิน 360.41 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 211.94 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินของบริษัท ภายหลังจากหักภาษี และเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top