ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไทย พ.ค.อยู่ที่ 80.31 หดตัว 23.19% รับพิษโควิด

นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 80.31 หดตัว 23.19% จากเดือน พ.ค.62 แต่ขยายตัว 2.86% จากเดือน เม.ย.63 ที่ MPI อยู่ในระดับ 78.08 ส่งสัญญาณดีขึ้นหลังจากผ่านคลายล็อกดาวน์

โดยอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) และยายังคงขยายตัวต่อเนื่อง คาดเศรษฐกิจในเดือน มิ.ย.63 จะดีขึ้นหลังได้เงินหมุนเศรษฐกิจจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐและมีการคลายล็อกดาวน์ทั้งในและต่างประเทศ

โดยผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลง รวมทั้งกิจกรรมด้านการขนส่ง

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้ลดวันทำงานลง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ในเดือน พ.ค.63 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 26.86% เป็นต้น ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 52.84% ลดลงจาก 67.38% ในเดือนพ.ค.62 แต่ดีขึ้นจากเม.ย.63 ที่อยู่ในระดับ 51.27%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นหลังดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.63 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.86% จากเดือน เม.ย.63 จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง การแปรรูปผักผลไม้ นม แป้งมันสำปะหลัง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.07% จากเดือน พ.ค.62 นับเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2 หลักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MP เดือน พ.ค.63 ได้แก่ การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โรงงานยังคงหยุดสายการผลิต ประชาชนเริ่มทำงานที่บ้านจึงลดการเดินทางลง การหยุดกิจกรรมขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากต่างประเทศ และถูกปิดช่องทางการขายทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือน พ.ค.63 ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.89% จากเดือน พ.ค.62 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้เพิ่มสัดส่วนในการรับจ้างผลิตสินค้ามากขึ้นจากปีก่อนที่เน้นการผลิตตามแผนการตลาดของตัวเองเท่านั้น

อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.15% จากเดือน พ.ค.62 โดยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่าและปลาซาร์ดีนที่มีมากในปีนี้

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.07% จากเดือน พ.ค.62 จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาครีม เนื่องจากมีความต้องการใช้ต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19,

นม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.99% จากเดือน พ.ค.62 จากผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมผง เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบที่มีเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำโปรโมชั่นและเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยได้รับคำสั่งซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ เพิ่มขึ้นหลังผู้ผลิตในมาเลเซียปิดโรงงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19, อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.08% จากเดือน พ.ค.62 จากผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

รองผู้อำนวยการ สศอ. คาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.63 จะกลับมาดีขึ้น โดยจะได้เงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจากมาตรการเงินเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลในส่วนต่างๆ ที่คืบหน้าค่อนข้างมาก อาทิ มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่ให้ความช่วยเหลือสำเร็จแล้วกว่า 99% รวมถึงการผ่อนคลายให้กิจกรรมและกิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ โดยการผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 มิ.ย.63 และระยะที่ 4 ที่เริ่มวันที่ 15 มิ.ย.63 จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการต่อได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมรวมถึงภาคอุตสาหกรรมเช่นเดียวกันกับในหลายประเทศที่มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ คาดการณ์ว่า ดัชนี MPI ทั้งปีจะหดตัวที่ -6 ถึง -7% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมปีนี้จะหดตัว -5.5 ถึง -6.5%

นายอิทธิชัย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมไทยหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเงินที่จะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยื่นเสนอโครงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ไปแล้ว

“อุปสรรคสำคัญคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งมองว่าจากเดิมที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้วก็น่าจะมีความเข้มงวดมากขึ้นอีก เนื่องจากยังไม่มีใครออกมาฟันธงว่าเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ ธุรกิจต่างๆ จะฟื้นตัวหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะต้องรอดูความชัดเจนของมาตรการภาครัฐที่จะออกมา รวมถึงอาจจะต้องรอดูเรื่องการปรับ ครม. โดยเฉพาะใครจะมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ รมว.คลัง”

นายอิทธิชัย กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ยื่นเสนอโครงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อ สศช.ไปแล้ว แบ่งเป็น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวง (สปอ.) ประมาณ 1,000 ล้านบาท, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ของบ 600 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ของบ 300 ล้านบาท,กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) วงเงิน 100-200 ล้านบาท, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) 100-200 ล้านบาท, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ของบ 53 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top