ก.ล.ต.ฉายภาพตลาดทุนหลังโควิดเทรนด์เปลี่ยน แนะปรับรูปแบบรับสถานการณ์

นายพงศ์พิชญ์ พิณสาย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในหัวข้อ “ภาพตลาดทุนไทย หลังเหตุการณ์โควิด-19” ว่า ในช่วงยุคหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านไปมองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก

ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยต่างๆ ที่มีโอกาสเกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณาว่าจะมีเทรนด์ต่างๆที่เปลี่ยนไป โดยจะมี 5 เทรนด์ใหญ่ๆที่เข้ามากระทบกับตลาดทุนคือ 1.Business Growth Imbalances คือ ในอดีตทุกธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจะมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในช่วงของการปรับตัวลงก็ลงด้วยกัน แต่หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บางธุรกิจปรับตัวได้ดีกว่าอาจจะเติบโตได้มาก บางธุรกิจอาจจะเติบโตได้ไม่มาก และบางธุรกิจอาจจะติดลบก็ได้ 2.Tech-Empowered Individuals การใช้เทคโนโลยีในส่วนบุคคลของผู้บริโภคจะมีมากขึ้น 3.Tech-Empowered Organizations กลุ่มของบริษัท ห้าง ร้าน และองกรณ์ต่างๆ จะมีการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น 4. VUCA World ความผันผวนของโลกที่มากขึ้น และการคาดการณ์ที่ทำได้ยากยิ่งขึ้น และ 5.Contactless Business/relationship ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่การพบเจอหน้ากันน้อยลง

นายพงศ์พิชญ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านไป จะมีผลกระทบต่อตลาดทุนคือ

  1. New direction of the global and local capital flow ทิศทางการไหลของเงินทุนที่อาจจะมีความแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งจะเป็นไปตามทิศทางผลตอบแทน และความเสี่ยงของหลักทรัพย์ ดังนั้นความคาดหวังผลตอบแทนและความเสี่ยงที่คาดหวังจะต่างไปจากเดิม ธุรกิจได้รับผลกระทบและการปรับตัวต่างกัน ซึ่งอาจจะมีการเติบโตในธุรกิจบางประเภทหรือบางภูมิภาค และอาจจะมีการถดถอยในธุรกิจบางประเภทหรือบางภูมิภาค โดยมองว่าผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นคือ การแนะนำการลงทุนอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปหรือไม่เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น
  2. Lower for longer return อัตราการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลงส่งผลให้ EPS/Dividend Yield ของตลาดลดลงในระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน ในขณะเดียวกันผลตอบแทนที่ลดลง ขณะที่ความผันผวนในตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเมื่อปรับค่าความเสี่ยงแล้วปรับตัวลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดทุนในความน่าสนใจในการลงทุนในระยะกลางจะไม่มากเท่าในอดีต ปริมาณการซื้อขายจะต่ำลง และค่าธรรมเนียมของนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะไม่มากเท่าในอดีต
  3. อาจจะมีรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้น นักลงทุนต้องมีความพร้อมในการรับบริการใหม่ๆมากขึ้น และจะมีการแนะนำการลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
  4. Fragile peple, fragile wealth ช่วงที่เกิดวิกฤตมีนักลงทุนที่เรียกว่ากลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก นอกจากนี้อาจจะมีการปรับรูปแบบของธุรกิจทำการจ้างงานบางส่วนได้รับผลกระทบ ส่งผลให้มีการนำเงินออม หรือเงินทุนบางส่วนออกมาใช้จ่ายในปัจจุบันก่อนเนื่องจากความจำเป็น ผลสุดท้ายคือเงินที่จะไหลเข้าสู่ตลาดทุนนั้นลดน้อยลง

นายพงศ์พิชญ์ กล่าวว่า ปัจจัยในการคาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีอยู่ 2 ปัจจัยหลักๆคือ ความสามารถในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และประสิทธิผลของการใช้นโยบายต่างๆของภาครัฐบาล

ในกรณีของประเทศไทยนั้นการควบคุมไวรัสโควิด-19 ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี แต่ในส่วนของประสิทธิผลของนโยบายภาครัฐนั้นยังคงต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากที่หน่วยงานต่างๆได้ออกมาใช้มาตรการในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว หากทำได้ดีก็จะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจให้ฟื้นตัวขึ้นไปด้วย โดยหากมาตรการต่างๆของภาครัฐสามารถมีประสิทธิผลได้ดีก็จะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นออกมาในรูปแบบตัววี (V shape)

ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกนั้นจากผลการสำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูง 2,079 คนทั่วโลก พบว่ามีมุมมองที่เศรษฐกิจจะเติบโตแบบตัวยู (U shape) แต่ก็มีมุมมองจำนวนหนึ่งที่มีเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแบบตัว U ที่ชันขึ้นด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top