KBANK วางแผนช่วยลูกค้าธุรกิจกลุ่มพักหนี้ราว 40% อาจยังจ่ายคืนไม่ได้หลังสิ้นเฟส 2

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่า ลูกค้าธุรกิจที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ในเฟสแรกซึ่งสิ้นสุดในสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จะเข้าร่วมในโครงการเฟสที่ 2 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค. 63 อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าแนวโน้มลูกค้าธุรกิจที่ได้รับการพักชำระเงินต้นกับธนาคาร 294,000 ราย วงเงินสินเชื่อราว 7.46 แสนล้านบาท ภายใต้มาตรการช่วยเหลือช่วงวิกฤติโควิด-19 หลังสิ้นสุดมาตรการเฟสที่ 2 ในช่วงสิ้นปี 63 จะมีลูกค้าราว 60% ของจำนวนดังกล่าวสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปและชำระหนี้คืนธนาคารได้ แต่อีก 40% มีโอกาสที่จะไม่สามารถกลับมาชำระคืนหนี้กับธนาคารได้ตามปกติ

ธนาคารได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ด้วยการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ 650,000 ราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 8.28 แสนล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าบุคคล 356,000 ราย จำนวน 8.2 หมื่นล้านบาท และลูกค้าธุรกิจ 294,000 ราย จำนวน 7.46 แสนล้านบาท และการให้เงินทุนเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้าธุรกิจ 94,000 ราย จำนวน 1.56 แสนล้านบาท

ธนาคารยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าที่ยังเดือดร้อนให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะดำเนินการเชิงรุกในการเข้าไปพูดคุยกับลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการเพื่อร่วมกันวางแผน หาแนวทางช่วยเหลือให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยทางออกที่ดีที่สุด เพื่อทำให้ลูกค้าผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไป และทำให้ยังมีความสามารถในการชำระคืนหนี้กับธนาคารหลังจากผ่านพ้นมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าธุรกิจอย่างเข้มงวดมากขึ้น และเป็นไปตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย เนื่องจากต้องการให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ด้วยแนวทางการดำเนินธุรกิจของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินเชื่อของธนาคารมากเหมือนในช่วงแรกที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารจะเข้าไปร่วมให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด และประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติไปพร้อมกับธนาคาร ซึ่งทำให้ลูกค้ายังใช้บริการกับธนาคารต่อไปอย่างต่อเนื่อง

“การพักเงินชำระหนี้ก็เหมือนเป็น Core Option หนึ่งที่ไม่เสียเงิน เมื่อลูกค้าไม่แน่ใจว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ใช้ Option นี้ก่อน แต่เราก็แนะนำลูกค้าว่าหนี้ไหนที่ดอกเบี้ยสูงๆ ถ้ายังจ่ายไหวก็จ่ายไปก่อน เพราะดอกเบี้ย run ทุกวัน ไม่อย่างนั้นภาระลูกค้าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และลูกค้าเองจะเสียประโยชน์ ซึ่งเราเห็นถึงจุดนี้จึงต้องเข้าไปช่วยลูกค้าวางแผน โดยเฉพาะวินัยทางการเงินที่เป็นเรื่องสำคัญ และหาแนวทางให้ลูกค้าฟื้นกลับมาได้ การเติมเงินให้กับลูกค้าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ก็จะพิจารณาลูกค้าบางรายที่นิสัยดี เพราะตอนนี้เราเองก็ไม่สามารถเติมเงินให้กับลูกค้าจำนวนมากได้เหมือนครึ่งปีแรกที่ผ่านมาแล้ว เราอยากให้ลูกค้าสามารถกลับมาด้วยตัวของลูกค้าเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุด”

นายพัชร กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าธนาคารจะเผชิญความเสี่ยงกับโอกาสที่ลูกค้าจะเริ่มไม่สามารถกลับมาชำระคืนหนี้ให้กับธนาคารหลังสิ้สุดมาตรการพักชำระหนี้ในเฟสที่ 2 ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก แต่ธนาคารยังมั่นใจว่ายังมีกองทุนและความสามารถเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะธนาคารมีเงินทุนสูงและเหลืออีกกว่า 3.12 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีสินเชื่อที่มีหลักประกันอยู่สูงถึง 81% ทำให้ธนาคารสามารถจัดการและควบคุมกับความเสี่ยงได้อย่างดี และยังมีเสถียรภาพในการเงินที่ดี

“สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่หลักประกันของลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเรามีหลักประกันที่ยึดจากลูกค้าเยอะ เราก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร และก็ใช้เวลากว่าจะขายออกไป แต่ที่เราต้องการจริงๆเราอยากให้ลูกค้ากลับมาจ่ายเราได้ปกติ ทำให้ธนาคารยังมีรายได้เข้ามา เพราะทุกวันนี้รายได้ธนาคารก็หายไปมาก ถ้าลูกค้าหายไปอีกก็เหมือนว่ารายได้ของธนาคารก็หายตามไปด้วย”

นายพัชร กล่าว

ส่วนโครงการพิเศษของธนาคารที่มีเจตนารมณ์ช่วยเหลือพนักงานของธุรกิจให้อยู่รอด โดยใช้งบประมาณจำนวน 1.5 พันล้านบาท ภายใต้โครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ซึ่งลดดอกเบี้ยให้กับธุรกิจที่ยังมีกำลังอยู่ เพื่อให้เจ้าของนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน และโครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” เป็นการให้เงินทุนแก่ธุรกิจขนาดเล็ก ในอัตราดอกเบี้ย 0% 10 ปี โดยปีแรกไม่ต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อนำไปจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน ได้ผลตอบรับที่ดีและเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ธนาคารตั้งไว้ โดยให้เงินช่วยลูกค้าไปแล้วรวม 1.14 พันล้านบาท สามารถช่วยรักษาการจ้างพนักงานได้จำนวน 49,000 ราย

ขณะเดียวกัน ในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นแต่มีสิ่งหนึ่งที่ธนาครมองเห็น คือ ลูกค้าธุรกิจรายเล็กในช่วงต้นปีถึงปัจจุบันมียอดรวมเงินฝากเพิ่มขึ้น 13% มาอยู่ที่ 9.34 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 62 ที่ 8.27 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าลูกค้าบางส่วนยังมีกำลังพอที่จะชำระหนี้หลังครบกำหนดพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และยังมีความสามารถในการนำเงินไปลงทุนในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่อาจยังชะลอการลงทุนเพราะยังไม่มั่นใจ ทำให้ธนาคารเห็นถึงศักยภาพของลูกค้าธุรกิจรายเล็กที่ยังมีกำลังขับเคลื่อนและต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งธนาคารจะหันมาขยายฐานลูกค้าดังกล่าวมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top