PTTGC เข้าถือหุ้น 41.5% ในธุรกิจพีพีคอมพาวด์กลุ่มไดนาเค็มจากไต้หวัน

รุกตลาดพลาสติกวิศวกรรมในไทย

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท ไดนาเค็ม ฮ่องกง จำกัด (Dynachem (Hong Kong) Limited: Dynachem) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกวิศวกรรม (Engineering Plastics) ประเภทพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound) ในกลุ่ม Dynachem Group จากไต้หวัน โดย PTTGC เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 41.5% ในบริษัท ไดน่าชิสโซ ไทย จำกัด (Dynachisso Thai Co. Ltd : DYCT) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกวิศวกรรม ประเภทพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ในไทย ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดชลบุรี ด้วยกำลังการผลิต 30,000 ตัน/ปี

“ด้วยความสามารถในการทำพีพีคอมพาวด์ของไดน่าชิสโซ่ ไทย ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลายกลุ่มอุตสาหกรรม ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงช่วยทำให้ GC Group สามารถขยายตลาดเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รวดเร็วขึ้น เป็นการขยายเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำและ High Value Product (HVP) ให้กับเม็ดพลาสติกพีพี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างครบถ้วน สำหรับตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายปฏิภาณ กล่าว

ทั้งนี้ การเข้าร่วมลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามกลยุทธ์ Step Change การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ฐานการผลิตของบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทในการสร้างพันธมิตรเพื่อเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ด้านนาย Michael Tang กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดน่าชิสโซ ไทย จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือกับ PTTGC ในการผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกวิศวกรรม ประเภทพีพีคอมพาวด์ สำหรับผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ การคมนาคม การขนส่ง อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นการเตรียมพร้อมในการสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิตัล (5G) ซึ่งเป็นรากฐานของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยความร่วมมือในโครงการนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

สำหรับเม็ดพลาสติกวิศวกรรม ประเภทพีพีคอมพาวด์ เป็นการพัฒนาคุณสมบัติจาก PP ปกติทั่วไป โดยการใช้สารเติมแต่งชนิดต่างๆ อาทิ เส้นใย ไฟเบอร์แบบสั้น (Short Glass Fiber) และแบบเส้นยาว (Long Glass Fiber), สารเติมแต่งประเภทแร่ (Mineral Filler) ยางสังเคราะห์ สารเพิ่มการทนต่อแรงกระแทก เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ เช่น การผลิตคอนโซลภายในรถยนต์ และกันชนของรถยนต์ รวมไปถึงฝาครอบของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top