น้ำมัน WTI ปิดร่วง 1.28 ดอลล์ วิตกโควิดฉุดดีมานด์น้ำมันทรุด

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 40 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (9 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นกว่า 5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 1.28 ดอลลาร์ หรือ 3.1% ปิดที่ 39.62 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 94 เซนต์ หรือ 2.2% ปิดที่ 42.35 ดอลลาร์/บาร์เรล

นักวิเคราะห์จากคอมเมิร์ซแบงก์ รีเสิร์ช กล่าวว่า การพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในสหรัฐและทั่วโลกได้ทำให้นักลงทุนหวั่นวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดน้ำมันทั้งในฝั่งอุปสงค์และอุปทาน โดยคาดว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังยืดเยื้อต่อไป ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนมากขึ้น

ข้อมูลล่าสุดของ Worldometer ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 12,196,922 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 552,771 ราย โดยสหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก จำนวน 3,159,514 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก จำนวน 134,873 ราย

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ค. สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล

ข้อมูลของ EIA ยังระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล

ทางด้านสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

นักลงทุนจับตาการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 15 ก.ค. โดยจะมีการหารือกันเกี่ยวกับข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา โอเปกพลัสได้บรรลุข้อตกลงขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึงเดือนก.ค. จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 63)

Tags: ,
Back to Top