DTAC ลดงบลงทุนปีนี้เหลือ 1 หมื่นลบ.คาดรายได้ค่าบริการติดลบ

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ปรับคาดการณ์รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ที่ติดลบในอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ ขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้ตัดจำหน่าย (EBITDA) คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 62 และตั้งงบลงทุนที่ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท

อนึ่ง เมื่อต้นปี 63 DTAC ตั้งเป้ารายได้ค่าบริการไม่รวม IC เติบโตเป็นร้อยละตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ (low single-digit) ขณะที่ EBITDA คาดว่าจะเติบโตอัตราร้อยละที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับกลาง (mid single-digit) ส่วนเงินลงทุน (CAPEX) ประมาณการณ์ไว้ที่ 13,000-15,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน

DTAC รายงานว่าจากการเกิดขึ้นของเหตุการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในไตรมาส 2/63 จากนักท่องเที่ยวหายไป แรงงานต่างด้าวออกจากประเทศไทย และการปิดตัวของร้านดีแทคเป็นเวลายาวนานมากกว่า 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ เป็นผลมาจากมาตรการปิดประเทศและมาตรการปิดเมืองสกัดการแพร่ระบาด ทำให้ผู้บริโภคมีการลดการใช้จ่ายลง เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจซบเซา

อย่างไรก็ตาม ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบรายเดือนมีการแข่งขันที่ทรงตัวใน ขณะที่ตลาดระบบเดิมเงินยังคงมีการแข่งขันรุนแรงระดับสูง โดยผู้ให้บริการเครือข่ายทุกรายยังมีการให้แพ็คเกจบริการข้อมูลแบบไม่จำกัดด้วยความเร็วที่กำหนด ในไตรมาส 2/63 DTAC ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้บริการข้อมูลฟรี 10 กิกกะไบต์ซึ่งได้รับการสบันสนุนจาก กสทช. และให้บริการเสียงฟรี 100 นาที ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด 2.6 ล้านรายที่รับสิทธิบริการข้อมูลฟรี และ 1.8 ล้านที่ได้รับสิทธิบริการเสียงฟรี

ณ สิ้นไตรมาส 2/63 จำนวนผู้ใช้บริการรวมเท่ากับ 18.8 ล้านเลขหมาย โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการใหม่สุทธิลดลงจำนวน 8.35 แสนราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 โดยเป็นผลกระทบมาจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ โดยจำนวนลูกค้าที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าเติมเงิน ซึ่งเท่ากับ 7.57 แสนราย ในขณะที่กลุ่มลูกค้ารายเดือนมีจำนวนลดลง 7.8 หมื่นราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้บริการในระบบรายเดือนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 32.3% ของจำนวนผู้ใช้บริการรวม

รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในไตรมาส 2/63 ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อน และลดลง 3.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 โดยรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายเฉลี่ยสองระบบมีการทรงตัว โดยปรับตัวขึ้น 0.5% จากไตรมาสก่อน และ 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ในไตรมาสนี้แม้จะมีผลกระทบจากรายได้รวมที่ลดลง EBITDA (ก่อนรายการอื่นๆ) ยังคงปรับตัวดีขึ้น 5.1% จากไตรมาสก่อน และ 4.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความสามารถในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top